เตรียมตัวก่อนคลอดลูก & สิ่งที่ต้องเตรียมไปโรงพยาบาล

ใกล้จะเจอลูกน้อยในเร็ววันนี้แล้วสินะคะ หน้าที่การเป็นคุณพ่อคุณแม่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของทุกคน หากเป็นลูกคนแรกด้วยแล้ว พ่อแม่ก็ต้องกังวลหลายสิ่งหลายอย่างมากเป็นพิเศษ หรือหากเคยมีลูกมาแล้ว ก็ยังคงมีความกังวลไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะทุกๆการตั้งครรภ์คือประสบการณ์ใหม่ของชีวิตคุณพ่อคุณแม่ ระหว่างช่วงการตั้งครรภ์ การวางลำดับความสำคัญในชีวิต และความคาดหวังของคุณก็อาจมีเปลี่ยนแปลงไปในบ้าง จนบางครั้งทำให้คนรอบข้างคุณแปลกใจถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคุณได้ นั่นก็เพราะสถานะของคุณที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่คำว่า “พ่อแม่” (parenting) ทำให้คุณเป็นคนที่ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ บางครั้งก็ตื่นเต้นดีใจ แต่บางครั้งก็หวาดกลัว กังวล มันช่างยากที่จะยั่งรู้ความรู้สึกที่แท้จริง ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้เจอลูกน้อย ทางเราก็รวบรวมเคล็ดลับต่างๆไว้ เพื่อให้คุณ เพื่อคลายความกังวลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยในการคลอด สุขภาพลูก ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นอันว่า เมื่อถึงกำหนดคลอดหรือมีอาการเจ็บท้องสามารถพร้อมไปโรงพยาบาลได้ทันที  เรามาดูกันค่ะว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

การเตรียมตัวคลอดในช่วงโควิด 19 กำลังระบาด (8)

เตรียมตัวคลอดขณะที่โควิด-19 กำลังระบาด

แม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิดมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ แต่เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่าง จึงมีโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และไวรัสชนิดอื่นที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆได้ จึงได้แนะนำการวิธีป้องกัน ลดเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังนี้

  • เลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการไอเป็นไข้หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง
  • ไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือรวมกลุ่มกันจำนวนมาก
  • รักษาระยะห่างในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น 2 เมตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา ปาก จมูก
  • เลี่ยงการใช้ภาชนะใส่อาหารและของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ หรือปรุงอาหารให้สุกร้อนอย่างทั่วถึง
  • ล้างมือบ่อยๆ
  • ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อจำเป็นต้องออกไปข้างนอก

วางแผนการคลอด (5)

เราไม่สามารถวางแผนการคลอด แล้วจะเป็นไปตามแผนสะทุกอย่าง แต่การวางแผนจะเป็นการช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่า คุณต้องการให้การคลอดออกมารูปแบบไหน และเพื่อให้คนอื่นรู้ด้วยว่าความต้องการของคุณว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งคุณควรร่วมเขียนแผนการคลอดกับสามี หรือบุคคลที่จะเข้าไปห้องคลอดกับคุณ ซึ่งแผนการคลอดไม่ควรกำหนดตายตัว คุณต้องพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งจากประสบการณ์ของตัวดิฉันผู้ที่มีความฝันอยากคลอดแบบธรรมชาติ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องผ่าคลอด ซึ่งก็ยอมรับได้ค่ะ เพราะสุดท้ายก็ได้เจอหน้าลูกน้อยหลังจากรอมานาน เรามาดูตัวอย่างกันค่ะ ว่าเราจะต้องพิจารณาอะไรบ้าง เพื่อมาเขียนในแผนการคลอดของเรา

เตรียมตัวคลอด
  • ต้องการคลอดแบบไหน ถ้าต้องคลอดแบบธรรมชาติ แต่สุดท้ายแล้วไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ก็ต้องเปลี่ยนแผนไปคลอดโดนการผ่าคลอด
  • ยาแก้ปวด ซึ่งทราบกันดีอยู่ว่าการคลอดใช้เวลายาวนาน และมีความเจ็บปวด แล้วเราจะจัดการกับความเจ็บปวดนี้ได้อย่างไร คุณสามารถเลือกยาแก้ปวดได้หลายแบบ ทั้งแบบแก๊ส ยาแก้ปวด การบล็อคหลัง และวิธีการอื่นๆ เช่น เทคนิคหายใจและผ่อนคลาย การนวด หรือเครื่อง TENS หากคุณต้องการหลีกเลี่ยงไม่ใช้ยาแก้ปวดแบบใดแบบหนึ่ง ก็ควรจดลงในแผนคลอดบุตร
  • ใครจะเป็นผู้เข้าไปในห้องคลอดกับคุณ ซึ่งอาจจะเป็นสามี หรือบางคนต้องการให้คุณแม่เข้าไปด้วย เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์โดยตรงมาก่อน
  • การเร่งคลอด หากการคลอดของคุณกินเวลานานมากแล้ว คุณต้องการให้เเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์เร่งการคลอดจะเป็นไปได้หรือไม่

หากคุณได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์แล้วคุณก็พอจะได้เห็นภาพความน่าจะเป็น ที่จะเกิดขึ้นในห้องคลอดได้มากขึ้น ต้องตระหนักไว้ด้วยนะคะ ว่าการคลอดไม่ใช่คุณเพียงคนเดียวที่เป็นผู้ควบคุมการคลอด ร่างกายของคุณและทารกในครรภ์ ก็มีส่วนในการคลอดครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแผนการคลอดควรมีความยืดยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ และความเหมาะสม

ทำความเข้าใจกับสัญญาณอาการเจ็บครรภ์เตือน (1)(2)

การเจ็บครรภ์คลอด เกิดจากการหดรัดตัวของลูก แรงดันในโพรงมดลูก การถูกดึงรั้งออกของกระดูกเชิงกราน กล้ามเนื้อ คุณแม่มือใหม่เกิดก็เกิดความกลัว สับสน ได้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง โดยคุณแม่อาจลองสังเกตได้จากสัญญาณเตือนสำคัญเหล่านี้

  • การหดรัดตัวของมดลูก อาการที่เกิดจากการเกร็งตัวหรือบีบตัวของมดลูก หรือเจ็บท้องเตือน (Braxton Hicks Contraction)  เมื่อใกล้คลอดการหดตัวมดลูกจะยาวขึ้น แรงขึ้น และถี่ขึ้น ช่วงการหดตัว กล้ามเนื้อรัดตัวและเกิดความเจ็บปวดมากขึ้น บริเวณท้องก็แข็งตัว เมื่อกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ความปวดก็จะลดลง  การหดตัวนี้จะทำให้เด็กทารกเคลื่อนตัวลงต่ำ ปากมดลูกก็เริ่มเปิดกว้างขึ้น พร้อมที่เด็กทารกจะออกมาสู่โลกกว้าง
    • คุณต้องไปโรงพยาบาล หากการกดรัดตัวของมดลูกมีรูปแบบดังนี้
      • กินเวลาอย่างน้อย 60 วินาที
      • และมีอาการหดรัดทุกๆ 5 นาที
  • มีมูกออกทางปากมดลูก โดยมูกที่พบมีอยู่หลายลักษณะ ตั้งแต่มูกใส สีน้ำตาล สีออกชมพู หรือแม้แต่สีแดงสดเหมือนเลือด 
  • ปวดหลัง  เนื่องจากหลังของคุณแม่รองรับทารกในครรภ์เป็นเวลานาน และทารกก็เคลื่อนตัวต่ำลงจนศีรษะชนกับกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดหลังมากขึ้น
  • รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำอยู่บ่อยครั้ง สาเหตุนี้เกิดจากทารกเริ่มมีการเคลื่อนตัวลงมาใกล้บริเวณกระดูกเชิงกรานมากขึ้น จะสังเกตได้ว่าตำแหน่งครรภ์ในช่วงใกล้คลอดอยู่ต่ำมากกว่าปกติ
  • ถุงน้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน เมื่อทารกในครรภ์เติบโตขึ้น ถุงน้ำคร่ำก็แตก และไหลออกมาทางช่องคลอด  ส่วนใหญ่จะไหลออกมาในปริมาณไม่มาก แต่คุณแม่บางท่านก็อาจจะไหลในปริมาณที่มากกว่าปกติ ซึ่งคุณแม่ควรพกผ้าอนามัยแบบแผ่นติดตัวไว้ด้วยนะคะ ถ้าถุงน้ำคร่ำแตกก็จะหยิบใช้ได้สะดวก แต่อาจทำให้หลายคนมักสับสนระหว่างน้ำปัสสาวะและน้ำจากถุงน้ำคร่ำ โดยทั่วไปน้ำคร่ำจะเป็นของเหลวใสและไม่มีกลิ่น
    • คุณต้องไปโรงพยาบาลทันที หาก
      • น้ำคร่ำมีกลิ่นและมีสี
      • มีเลือดปนเปื้อน
  • ช่วงปากมดลูกเปิดช้าหรือระยะแฝง (Latent phase) เป็นช่วงที่ปากมดลูกมีการค่อยๆ เปิดขยายอย่างช้าๆ โดยจะมีอาการ ดังนี้
    • น้ำคร่ำแตก หรือ
    • มีเลือดออกมาจากช่องคลอด หรือ
    • ลูกดิ้นน้อยลงกว่าปกติ หรือ
    • คุณแม่อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ แต่คุณคิดว่ามดลูกบีบรัดตัวและเหมือนกำลังจะคลอด หากมีอาการเช่นนี้ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีเลยนะคะ อย่ารอช้า

เตรียมพร้อมรับมืออย่างไรเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์

เมื่อแรกเริ่มมีอาการเจ็บครรภ์ คุณควร :

    • เดินและเคลื่อนไหวร่างกาย ถ้าคุณสามารถทำได้
    • จิบดื่มน้ำบ่อยๆ
    • พยายามที่จะผ่อนคลาย ฝึกลมหายใจเข้า-ออก เพราะช่วงมดลูกหดรัดตัวคุณจะมีความเจ็บปวด ในช่วงนี้คุณพ่อก็สามารถช่วยคุณแม่ผ่อนคลายได้นะคะ คุณพ่อก็สามาถช่วยลูบหลังคุณแม่ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวด 
    • กินยาพาราเซตามอล บรรเทาความเจ็บปวด
    • อาบน้ำอุ่นๆ

เตรียมพร้อมสำหรับการคลอด (3)(4)(6)

การวางแผนนี้ป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ (parents-to-be)  ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนคลอด เรามาดูกันนะคะว่ามีอะไรบ้าง

  • โทรศัพท์มือถือต้องสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา พร้อมทุกสถานการณ์ ควรพกสายชาร์จ หรือ power bank ติดตัวไว้ด้วยนะคะ
  • ควรบันทึกหรือจดเบอร์โทรศัพท์บุคคลที่สำคัญไว้ด้วยนะคะ หากจำเป็นต้องใช้ในยามฉุกเฉิน (4)
  • ต้องวางแผนการเดินไปโรงพยาบาล ว่าเส้นทางไหนรวดเร็วที่สุด และหากเส้นทางหลักปิดถนน จะสามารถเดินทางด้วยเส้นทางอื่นใดๆ ได้บ้าง
  • ถ้าวางแผนจะใช้รถยนต์ส่วนตัวไปโรงพยาบาล ต้องมั่นใจว่าน้ำมันเต็มถัง และเพียงพอที่จะขับไปถึงโรงพยาบาลได้
  • เตรียมกระเป๋าคลอด พร้อมหยิบใช้ได้ทันที่เมื่อมีอาการเจ็บครรภ์ จะยกมาเป็นอีกหัวข้อใหญ่ว่าของที่จะอยู่ในกระเป๋ามาอะไรกันบ้าง มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

เตรียมกระเป๋าสำหรับการคลอด

การเตรียมกระเป๋าก็มีทั้งในส่วนของคุณแม่และลูกน้อย และหากคุณพ่อจะอยู่ร่วมแชร์ประสบการณ์ ก็ต้องเตรียมกระเป๋าไปด้วยนะคะ

กระเป๋าคุณแม่

    • สมุดบันทึกการฝากครรภ์ เป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง เพราะข้อมูลทุกอย่างตอนฝากครรภ์จะอยู่ในนั้น ห้ามลืมเป็นอันขาดนะคะ
    • เอกสารต่างๆ  เช่น ใบนัดแพทย์, บัตรประจำตัวผู้ป่วย, บัตรประกันสุขภาพ, บัตรทอง, ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนทั้งของคุณแม่และคุณพ่อ 
    • เสื้อผ้าชุดลำลอง ที่สวมใส่สบายตัว เพราะบางครั้งชุดโรงพยาบาลอาจจะไม่สะดวกสำหรับคุณแม่บางท่าน คุณแม่ควรเตรียมเสื้อนอนเปิดด้านหน้าพร้อมให้นมดลูก และเปิดให้ตรวจท้องได้ง่าย หรือทำความสะอาดช่องคลอดได้ง่าย แต่หากคุณแม่สะดวกที่จะใช้ชุดที่โรงพยาบาลจัดสรรให้ ก็เป็นการสะดวกและไม่ต้องกังวลที่จะต้องซักบ่อย ๆ เพราะหลังจากการคลอดมักจะมีน้ำคาวปลาผสมกับเลือดไหลออกมาเปื้อนผ้าบ้าง อาจจะทิ้งคราบเปื้อนไว้ได้
    • ชุดชั้นในสำหรับเตรียมให้นมลูก 2-3 ตัว (ซึ่งชุดชั้นในควรมีไซส์ที่ใหญ่กว่าปกติ เพราะหลังคลอดคุณแม่จะเริ่มมีน้ำนม หน้าอกก็จะใหญ่ขึ้นและตึงขึ้น) เปิดปิดให้นมลูกได้สะดวก 
    • แผ่นซับน้ำนม
    • กางเกงชั้นใน ประมาณ 5-6 ตัว จากที่บอกไว้ข้างต้นค่ะว่าหลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาไหลออกมาบ้าง ดังนั้นควรเตรียมไว้หากเปื้อนก็จะได้มีสำรองไว้เปลี่ยน
    • ผ้าอนามัย อันนี้ต้องใช้แบบที่มีความหนาและซึมซับได้ดีนะคะ เพราะน้ำคาวปลาที่ไหลมักจะมีปริมาณที่มาก
    • กระเป๋าใส่อุปกรณ์อาบน้ำ (Washbag) ซึ่งในกระเป๋าจะมี แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แชมพู หวี ผ้าขนหนูขนาดเล็ก สบู่ ลิปมัน สเปรย์ดับกลิ่นกาย ยางรัดผม(สำหรับคุณแม่ผมยาว) เป็นต้น และสิ่งอื่นๆอีกหากคุณแม่จำเป็นต้องใช้
    • ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดตัว 1 ผืน ซึ่งปกติบางโรงพยาบาลจะมีให้อยู่แล้วค่ะ
    • อุปกรณ์ สิ่งของต่างๆ ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย  คุณแม่ส่วนใหญ่มักเจ็บท้องคลอดอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งการรอคอยนี้อาจทำให้คุณแม่เบื่อได้ หากมีอะไรทำเพลิน ๆ เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่น เช่น การอ่านหนังสือ อ่านนิตยสาร ฟังเพลง ฟังpodcasts หรือเล่มเกม ก็จะช่วยให้คุณแม่ลืมความเจ็บปวด และฆ่าเวลาไปได้บ้าง
    • พัดลม หรือสเปรย์น้ำแร่ สำหรับใช้ฉีดหน้าหรือตามร่างกายส่วนอื่นๆ เพื่อให้รู้สึกสดชื่นในขณะเจ็บท้องคลอด
    •  รองเท้าแบบไม่มีส้นหรือรองเท้าแตะ ที่ใส่แล้วสบายเท้า ใช้สำหรับเดินไปมาทั้งในห้องและนอกห้อง และใช้สำหรับใส่กลับบ้าน
    • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน ใส่แล้วสบายตัว สามารถเปิดเต้าเพื่อให้นมลูกได้ง่าย
    •  กล้องถ่ายรูปหรือกล้องถ่ายวิดีโอเพื่อบันทึกภาพ รวมทั้งสายชาร์จและแบตเตอรี่สำรอง เพราะเชื่อคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านก็อยากจะเก็บบันทึกภาพความทรงจำ ในประสบการณ์อันล้ำค่านี้ไว้ แต่อย่างไรก็ตามแต่ ควรถามทางโรงพยาบาลก่อนด้วยนะคะ ว่าอนุญาตให้มีการบันทึกภาพในห้องคลอดหรือไม่
    •  อาหารและเครื่องดื่ม คุณแม่บางท่านเจ็บท้องคลอดเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายสูญเสียพลังงาน เรี่ยวแรงอ่อนโรย การทานอาหารไว้เพื่อตุนพลังงานเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าทางคุณหมออนุญาตให้คุณแม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำในช่วงเจ็บท้องได้ คุณแม่ก็อาจจะเตรียมอาหารที่ทานสะดวก ย่อยได้ง่าย เช่น แซนด์วิช ขนมปัง ผลไม้ ธัญพืชบาร์ และน้ำดื่มเย็นๆ ในช่วงนี้คุณพ่อก็สามารถเป็นผู้ช่วย หยิบน้ำ ขนมป้อนให้คุณแม่ทานได้นะคะ แต่ส่วนใหญ่แล้วคุณหมอจะให้งดอาหารไว้ก่อน เพราะหากเกิดภาวะฉุกเฉินในระหว่างการคลอด เช่น ปากมดลูกไม่เปิดเพิ่ม หัวใจลูกเต้นผิดปกติ  อุ้งเชิงกรานแคบผิดปกติหรือไม่ขยาย เป็นต้น  ซึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดทำคลอดฉุกเฉินทันทีทันใด ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในคุณแม่ที่ต้องงดอาหาร ดื่มได้เฉพาะน้ำ ในตอนนั้นร่างกายอ่อนล้ามากเลยค่ะ แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี
    • ยาต่างๆ ที่คุณต้องทานอยู่เป็นประจำ
    • แอลกอฮอล์ล้างมือ, หน้ากากอนามัย สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ปัจจุบัน ปี 2020 ขณะที่ โควิด 19 กำลังระบาด

กระเป๋าลูกน้อย

    • ผ้าห่อตัว และเสื้อผ้าเด็กอ่อน
    • ผ้าอ้อม (ที่ซักแล้ว) หรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป
    • สำลีเช็ดก้นลูกน้อง หรือทิชชูเปียก พร้อมถุงเอาไว้ใส่ทิชชูหรือสำลีใช้แล้ว
    • แชมพูอาบน้ำ ยาสระผมสำหรับทารก
    • ผ้าเช็ดตัว 
    • ฟองน้ำธรรมชาติ สำหรับอาบน้ำ
    • ขวดนม เนื่องจากคุณแม่บางท่านยังไม่มีน้ำนมหลังคลอดในวันแรกๆ
    • คาร์ซีท สำหรับให้ลูกนั่งตอนออกจากโรงพยาบาล สำหรับคาร์ซีทสำคัญมากนะคะ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย ยิ่งเราฝึกลูกนั่งคาร์ซีทเร็วเท่าไหร่ ลูกน้อยก็จะชินกับการนั่งคาร์ซีทเร็วขึ้น ดังนั้นควรฝึกตั้งแต่วัยทารกเลยเป็นดีที่สุดค่ะ

กระเป๋าคุณพ่อ

    • รองเท้าสวมใส่สบาย
    • เสื้อผ้าสำหรับเอาไปเปลี่ยน
    • อุปกรณ์อาบน้ำ
    • ขนมขบเคี้ยว
    • หมอน
    • ผ้าห่ม 
    • แอลกอฮอล์ล้างมือ
    • หน้ากากอนามัย

สภาพจิตใจ (7)

การกำลังจะเป็นคุณแม่มือใหม่ (mom-to-be) ช่างเป็นอะไรที่น่ากังวล ความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้น อาจทำให้คุณรู้สึกไม่พร้อม รู้สึกสับสน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุย เพื่อหาจุดที่ก่อให้เกิดความกังวลใจ แล้วร่วมกันแก้ไขไปด้วยกันนะคะ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ ต่างก็ต้องการกำลังใจ เพื่อรับมือกับหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

คุณแม่ควรมีความสุขขณะตั้งครรภ์ และเตรียมตัวคลอด

การวางแผนเตรียมตัวคลอด เพิ่มความพร้อมให้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เมื่อคุณแม่มีความพร้อมที่จะดูแลตัวเองและดูแลครรภ์ ก็จะส่งผลให้คุณแม่มีอารมณ์ที่ดี มีความสุข ไม่เครียด ลูกในครรภ์ก็จะมีความสุข สุขภาพดีไปด้วย และยังไม่ต้องกระวนกระวาย ว่าของต่างๆพร้อมสำหรับไปโรงพยาบาลแล้วหรือยัง เพราะถ้าคุณแม่กังวลมากเกินไปจนเครียด ก็ส่งผลต่อลูกในครรภ์ได้ หากมีการตกหล่นของสิ่งของบางรายการ คุณพ่อหรือคนอื่นๆก็สามารถนำมาให้ในภายหลังได้ค่ะ


อ้างอิง

(1) Signs that labour has begun

(2) Pregnancy, birth and beyond for dads and partners

(3) Pack your bag for labour

(4) Preparing for labour

(5) What to pack

(6) What you’ll need for your baby

(7) Pregnancy, birth and beyond for dads and partners

(8) Pregnancy and coronavirus