เมื่อเราเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน โดยสังคมไทยแล้วถือว่าเป็นวัยที่เหมาะสมที่ควรจะแต่งงาน มีครอบครัว ซึ่งนิยามของคำว่า “ครอบครัว” ที่สมบูรณ์แบบจะต้องประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก ลูกผู้เปรียบดังโซ่ทองคล้องใจของผู้เป็นพ่อ แม่ คือส่วนเติมเต็มของครอบครัว และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้รักกันมากขึ้น
แม้ว่าการมีลูกจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับคู่รักหลายๆ คู่ แต่ด้วยวิวัฒนาการด้านวิทยาการทางการแพทย์ และเทคโนโลยี ก็สามารถเปลี่ยนเรื่องยากๆ อย่างเช่น ปัญหาการมีลูกยาก ให้เป็นเรื่องที่ง่าย(ยากน้อยกว่าเดิม) ได้ ตราบใดที่คุณยังมีกำลังกาย กำลังใจในการต่อสู้ เราเชื่อว่าสักวันนึงคุณจะได้เห็นขีดแดง 2 แถบบนที่ตรวจครรภ์ แน่นอนค่ะ 🙂
วันนี้เราจะมาบอกเล่าวิธีพื้นฐานที่สุดของปฏิบัติการนี้กันค่ะ นั่นก็คือ การนับวันของรอบประจำเดือน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ประหยัด และเป็นวิธีแรกเริ่มเลยที่ผู้หญิงอย่างเราจะใช้กัน เรามาดูกันค่ะว่า ต้องทำยังไง และเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง
การบันทึกข้อมูลระยะเวลาเจริญพันธุ์ หรือเรียกง่ายๆว่า ช่วงไข่ตก (Charting your fertility pattern )
การรู้ระยะเวลาไข่ตกนั้นก็เป็นการเพิ่มโอกาสต่อการตั้งครรภ์ โดยจะสังเกตง่ายๆได้ด้วย 3 วิธี ดังต่อไปนี้ คะ
1. สังเกตวันไข่ตก โดยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ทุกๆเช้า หลังตื่นนอน (Basal body temperature method)
ซึ่งจะวัดเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า ซึ่งควรจะเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันในทุกๆวันนะคะ เมื่อไข่ตกอุณหภูมิของร่างกายผู้หญิงจะสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเราควรจดบันทึกอุณหภูมิของตัวเราเองไว้ล่วงหน้าติดต่อกันอย่างน้อยสัก 2-3 เดือนนะคะ เพื่อดูแนวโน้มวันที่ไข่ตกได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยอุณหภูมิที่วัดทางปากของผู้หญิงแต่ละคนในช่วงก่อนไข่ตกนั้น จะอยู่ในช่วง 35.5° c – 36.6 °c และ 36.1°c -37.2°c ในช่วงไข่ตก ซึ่งในบางคนนั้นอุณหภูมิก็อาจจะขึ้นอย่างรวดเร็ว บางคนก็อาจจะค่อยๆขึ้น
การที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกเสมอไปว่าไข่ได้ตกมาแล้วนะคะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไข่จะตกภายใน 3 วัน หลังอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน และอุณหภูมิจะยังคงสูงอย่างนี้ไปจนกว่าจะมีประจำเดือน
ช่วงระยะที่มีโอกาสสูงในการตั้งครรภ์ คือ
- 2-3 วันก่อนอุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างชัดเจน
- 12-24 ชั่วโมงหลังไข่ตก
ซึ่งตัวอสุจิจะสามารถอยู่ในร่างกายของผู้หญิงได้ประมาณ 3 วันนะคะ หากอสุจิเข้าผสมพันธุ์กับไข่ในช่วงระยะเวลานั้น นั่นก็หมายความว่ามีโอกาสตั้งครรภ์ได้คะ
แต่ก็มีหลายปัจจัยเลยทีเดียวนะคะ ที่ส่งผลให้เกิดความคาดเคลื่อนในการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย นั่นก็คือ
- การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน
- การสูบบุหรี่ก่อนนอน
- การนอนหลับไม่สนิท
- มีไข้
- การเดินไปเข้าห้องน้ำ
- การพูดคุย
ดังนั้น ควรเตรียมปรอทให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเข้านอน และควรวางปรอทไว้ใกล้ๆ ตัว พร้อมที่จะหยิบใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องลุกจากที่นอน แค่นี้ก็ช่วยเพิ่มความแม่นยำของอุณหภูมิที่เราจะวัดได้แล้วละคะ
หากเพื่อนๆ คนไหนอยากจะใช้วิธีนี้ในการสังเกตวันไข่ตก เราก็มีตารางให้เพื่อนสามารถนำไปใช้ได้อย่างง่ายๆ เมื่อเพื่อนๆ พล็อตกราฟแล้ว จะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าอุณหภูมิร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
2. การนับวัน (Calendar method)
วิธีนี้เป็นการนับวันของรอบประจำเดือน ซึ่งควรจดบันทึกอย่างน้อย 8-12 เดือน โดยวันแรกของการมีประจำเดือน เรียกว่า Day 1 ในปฏิทิน โดยความยาวของรอบประจำเดือนก็อาจจะแตกต่างกันไป โดยเราต้องจดบันทึกจำนวนระยะเวลาของทุกรอบเดือน เราก็จะสามารถใช้ข้อมูลที่เราจดบันทึกนี้ไว้เพื่อวางแผนล่วงหน้าในการทำการบ้าน (การมีเพศสัมพันธุ์) ของคู่รักได้
วิธี คำนวณวันไข่ตก
วิธีที่ 1
เราสามารถหาวันไข่ตก จากจำนวนวันที่ สั้นที่สุด ของรอบเดือน ลบด้วย 18
ตัวอย่างเช่น
จากการจดบันทึกหากระยะของรอบเดือนสั้นที่สุดคือ 26 วัน เราก็จะคำนวณโดยการ นำ 26-18 ผลลัพธ์ที่ได้คือ 8 วัน วันแรกของการมีประจำเดือน (Day1) และนับไปอีก 8 วัน (ซึ่งรวมวันแรกของการมีประจำเดือนด้วย) แล้วใส่เครื่องหมาย X บนปฏิทินของเรา นั่นคือวันแรกที่มีโอกาสการตั้งครรภ์
วิธีที่ 2
เราสามารถหาวันไข่ตก จำนวนวันที่ ยาวที่สุด ของรอบเดือนลบด้วย 11
ตัวอย่างเช่น
หากรอบเดือนที่ยาวที่สุดคือ 30 วัน เราจะคำนวณโดยการนำ 30-11 ผลลัพธ์ที่ได้คือ 19 วัน ซึ่งวันแรกของการมีประจำเดือน ( Day1) เและนับไปอีก 19 วัน (ซึ่งรวมวันแรกของการมีประจำเดือนด้วย) แล้วใส่เครื่องหมาย X บนปฏิทินของเรา
ช่วงเวลา X อันแรก และ X อันที่สอง คือช่วงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการนี้ควรใช้ในการสังเกตร่วมกับวิธีอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะคนที่มีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ
สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจ ลองใช้ปฏิทินด้านล่างนี้ประกอบการคำนวณดูนะคะ
ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีแอพพลิเคชั่นมากมายนะคะ ที่ใช้ได้รับความเชื่อถือและใช้กันอย่างแพร่หลายเช่น Period Tracker Clue, Period Tracker และ Flo เป็นต้น ถ้าไม่อยากคำนวณเอง ลองไปหามาดาวน์โหลดมาใช้กันนะคะ
3. การตรวจมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus method)
วิธีนี้จะอาศัยหลักที่ว่า “มูกปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของความเหนียวข้นและความยืดหยุ่นไปตามอิทธิพลของฮอร์โมนในแต่ละรอบเดือน” หลังจากหมดรอบเดือนก็จะไม่มีมูกที่ปากมดลูก ( dry day) ต่อมาจะมีมูกสีขาวขุ่น ๆ หรือสีเหลืองจำนวนไม่มากนัก เมื่อถึงช่วงระยะตกไข่ ปริมาณมูกก็จะเพิ่มขึ้นในช่องคลอด โดยมูกจะมีลักษณะใสและลื่น (คล้ายไข่ขาวดิบ) สามารถดึงยืดเป็นเส้นได้ (เราเรียกช่วงนี้ว่า wet day) หลังจากนี้ไปประมาณ 4 วันมูกก็จะเปลี่ยนอีกครั้งนึง เราสามารถมี dry day ก่อนจะมีประจำเดือนได้เช่นกัน และเราก็ควรจดบันทึกลักษณะของมูกในปฏิทินของเราด้วย โดยใช้คำว่า Sticky, Dry หรือ Wet หรือคำอื่นๆ ซึ่งหากมูกมีปริมาณมากๆ หลังรอบเดือน ช่วงนั้นเราก็โอกาสการตั้งครรภ์ได้ หรือ 1-2 วันก่อนจะถึงวันที่มีมูกปริมาณมากค่ะ
วิธีการสังเกตมูกนี้ก็นับว่าค่อนข้างยากพอตัวเลยนะคะ เพราะการเปลี่ยนแปลงของมูกในแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เช่น การให้นมบุตร, การกินยาคุม, การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น,โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และผู้หญิงการผ่าตัดปากมดลูก ปัจจัยเหล่านี้ก็มีผลต่อมูก
การที่จะรู้วันที่ไข่ตกได้ เราต้องใช้ 3 วิธีนี้ร่วมกัน ก็จะทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้การใช้ ชุดทดสอบการตกไข่ เพื่อใช้คาดคะเนการตกไข่ ทำให้เรากำหนดช่วงเวลาการทำการบ้านของคู่รักให้ตรงกับวันตกไข่หรือใกล้ช่วงตกไข่มากที่สุด โดยในหลักการแล้วจะเป็นการตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Luteinizing hormone – LH)
Reference:
- NHS.UK – How can I tell when I’m ovulating?
- OWH – Before you get pregnant
- What’s the calendar method of FAMs?