มีลูกยากแก้ไขได้ พร้อมอธิบายถึงสาเหตุ

ภาวะมีลูกยากทางการแพทย์

ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) โดยคนส่วนใหญ่จะคิดว่าสาเหตุมาจากผู้หญิง แต่จริงๆแล้วทางการแพทย์แบ่งเป็น 3 ข้อ คือ (1)

  1. ปัญหามีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายหญิง ผู้หญิงบางท่านก็ไม่สามารถมีลูกได้ หรือมีการแท้งลูกบ่อยครั้ง
  2. ปัญหามีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายชาย
  3. ปัญหามีบุตรยากที่เกิดจากทั้งสองฝ่าย หรืออาจไม่พบสาเหตุได้เลยว่าทำไมถึงตั้งครรภ์ยาก

สาเหตุการมีลูกยาก

เรามาดูกันนะคะว่ามีสาเหตุอะไรบ้าง ที่ก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยาก (1) (2)

1. อายุ (Age)

เมื่อนาฬิกาชีวิตส่งผลให้อยูในภาวะมีบุตรยาก โดยโอกาสการตั้งครรภ์ของผู้หญิงโดยทั่วไปจะเริ่มลดลงในช่วงอายุเริ่มเข้า 30 ปี และจะเริ่มยากขึ้นเรื่อยๆในช่วงอายุ 35 ปี ซึ่งความสามารถในการผลิตฮอร์โมน การทำงานของร่างกายและระบบสืบพันธุ์เสื่อมถอยลง คุณภาพของไข่ที่ตกก็ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการมีลูกเป็นโรคดาวน์ซินโดรมได้เช่นกันนะคะ สำหรับสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือน จำนวนของไข่ก็ตกลดลงในแต่ละเดือน ทำให้โอกาสการตั้งครรภ์น้อยลง แต่ก็อย่าเพิ่งหมดหวังนะคะ เพราะก็มีผู้หญิงที่มีอายุ 30-40 ปี หลายคนเลยที่ไม่ได้มีปัญหาในการตั้งครรภ์

2. ปัจจัยทางด้านสุขภาพ (Health problem)

  • ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) โรคนี้ถือเป็นสาเหตุของการมีลูกยากที่พบได้ทั่วไปมากที่สุด
  • รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Insufficiency: POI) ภาวะนี้จะทำให้รังไข่เสื่อมก่อนอายุ 40 ปี หรือเข้าวัยทองก่อนกำหนด
  • ร่างกายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถผลิตโพรเจสเตอโรนได้เพียงพอในช่วงระยะหลังวันไข่ตก มดลูกจึงเติบโตไม่พอที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้เสี่ยงการแท้งบุตรตั้งแต่ในระยะแรก ๆ

โดยปัญหาเนื้องอกต่าง ๆ เช่น เนื้องอกมดลูก, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ก็มีผลต่อการตั้งครรภ์เช่นกัน เพราะอาจจะเป็นสาเหตุให้ท่อนำไข่อุดตัน ไข่จึงไม่สามารถเคลื่อนที่ไปยังมดลูกได้

3. การใช้ชีวิตประจำวัน (Lifestyle factors)

การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำหนักที่เยอะเกินไป การออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง และผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ และความเครียด ก็มีผลต่อการตั้งครรภ์

การสูบบุหรี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มีลูกยาก

ผู้ชายช่วงอายุ 60 ปี และ 70 ปี ยังสามารถอยู่ในภาวะเจริญพันธุ์ แต่จะมีผลต่อรูปร่าง การเคลื่อนที่ รวมไปถึงปริมาณของอสุจิจะลดน้อยลงได้ด้วยนะคะ แอลกอฮอล์ ยา ก็มีผลต่อคุณภาพของอสุจิ มลพิษในสิ่งแวดล้อมที่มาจาก สารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สารตะกั่ว ก็อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ปัญหาสุขภาพของผู้ชายก็มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ เช่น โรคติด่อทางเพศสัมพันธ์, ความอ้วน, ผ่าตัดต่อมลูกหมาก  และการบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะ ดังนั้นเมื่อวางแผนจะมีลูกน้อยแล้ว ต้องหันมาดูแลสุขภาพของตัวคุณก่อนนะคะ เพื่อที่จะได้มีคุณภาพไข่และอสุจิที่แข็งเเรง

มีลูกยาก เมื่อไหร่ถึงควรพบแพทย์

  • อายุน้อยกว่า 35 ปี ซึ่งพยายามที่จะมีลูก ทั้งที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้คุมกำเนิดมาหนึ่งปีแล้ว
  • อายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งพยายามที่จะมีลูก ทั้งที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้คุมกำเนิดมา 6 เดือน
  • ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมีความเชื่อว่าตนอาจจะมีปัญหาการมีลูกในอนาคต (หรือได้เริ่มพยายามที่จะมีลูกแล้ว)
  • ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมีปัญหาความต้องการทางเพศที่ลดลง

ทางเลือกสำหรับคู่ที่มีบุตรยาก

ถ้าคุณอยู่ในภาวะมีบุตรยาก คุณควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยทางแพทย์จะตรวจทั้งสองฝ่าย โดยทางแพทย์จะแนะนำการรักษา ประมาณ 9 ใน 10 ของผู้มีบุตรยากจะรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัด อย่ารอช้าที่จะพบแพทย์เลยคะ เพราะอายุของคุณก็มีผลต่อการรักษาเช่นกันค่ะ (2)

5 วิธีการรักษาผู้ที่มีบุตรยาก

  1. การใช้ยา ในผู้หญิง เพื่อชักนำให้มีการตกไข่ สำคัญมากนะคะที่ต้องคุยกับแพทย์ให้เข้าใจว่าตัวยาที่ใช้มีประโยชน์ และผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเภทของยา ปริมาณยา และจำนวนบุตรที่จะคุณต้องการนะคะ
  2. การผ่าตัด ในกรณีมีเนื้องอก ซีสต์ พังผืด ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก เป็นต้น ซึ่งการผ่าตัดในบางครั้งฝ่ายผู้ชาย (1) ก็อาจจะต้องผ่าเช่นกัน หากมีปัญหาไม่สามารถผลิตอสุจิได้อย่างธรรมชาติ
  3. การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) การนำเชื้ออสุจิฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก หรือท่อนำไข่โดยตรง โดยวิธีนี้จะใช้ร่วมกับการใช้ยาชักนำให้ไข่ตก
  4. เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology, ART) หรือเด็กหลอดแก้ว การเก็บไข่ออกมานอกร่างกายของฝ่ายหญิง นำมาผสมกับตัวอสุจิของฝ่ายชายเพื่อให้เกิดตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ จากนั้นก็นำตัวอ่อนใส่กลับเข้าในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้ฝังตัวและเจริญต่อไปเป็นทารกในครรภ์
  5. การใช้ไข่หรืออสุจิบริจาค หรือการอุ้มบุญ การหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก บางครั้งใช้เวลานาน ยุ่งยาก และส่งผลกระทบต่ออารมณ์ แต่คู่รักก็ต้องจับมือกันให้แน่น ผ่านปัญหานั้นมาด้วยกันให้ได้นะคะ การเลือกวิธีรักษาขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อายุ สาเหตุ ระยะเวลาที่ไม่มีบุตรและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เป็นต้น

การรับบุตรบุญธรรม (Adoption)

ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มคำว่าครอบครัวของคุณให้สมบูรณ์ดั่งใจหมาย การที่ไปเด็กหนึ่งมาอุปการะเลี้ยงดูเหมือนบุตรของตนเอง โดยบุคคลนั้นไม่ใช่บุตรโดยกำเนิดของตน การรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวจะต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายนี้ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. การรับบุตรบุญธรรมแบบธรรมดา (Open adoption) เป็นการรับบุตรบุญธรรมที่บุตรบุญธรรมยังไม่ตัดขาดความสัมพันธ์จากครอบครัวเดิม สิทธิและหน้าที่ระหว่างพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดกับบุตรบุญธรรมยังคงมีต่อกันอยู่ แต่จะไม่มีอำนาจในการปกครองบุตรบุญธรรมเท่านั้น
  2. การรับบุตรบุญธรรมแบบสมบูรณ์ (Close adoption) เป็นการรับบุตรบุญธรรม โดยบุตรบุญธรรมตัดขาดความสัมพันธ์จากครอบครัวเดิมอย่างสิ้นเชิง สิทธิและหน้าที่ระหว่างพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดกับบุตรบุญธรรมไม่มีอีกต่อไป

ซึ่งหากต้องการจะรับบุตรบุญธรรมมาอุปการะ ก็ต้องศึกษากฎหมายของบ้านเราเพิ่มเติมด้วยนะคะ

การรับบุตรบุญธรรม (Adoption)
  • ครอบครัวอุปถัมภ์ ( Foster care)
    เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับบางคนที่ต้องการจะเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งจะแตกต่างจากการรับเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งครอบครัวอุปถัมภ์ คือการเป็นครอบครัวทดแทนให้กับเด็ก โดยเราจะอบรม ขัดเกลา ให้เด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม โดยที่เราไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายใดๆ กับเด็ก

กลุ่มให้คำปรึกษา และช่วยเหลือ

กลุ่มให้คำปรึกษา และช่วยเหลือ (Counselling and support group) กลุ่มให้คำปรึกษาก็มีทั้งที่ทางโรงพยาบาลจัดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของการเสวนา หรืออาจจะเป็นช่องทางของการปรึกษาออนไลน์ ตั้งกระทู้ถาม ซึ่งจะมีทั้งแพทย์ หรือคุณพ่อคุณแม่มีมีลูกยาก มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ การฟังเรื่องราวของคนอื่นที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเรา ก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เพราะไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่ติดอยู่กับปัญหานี้

เป็นไงกันบ้างแค่จากข้อมูลเบื้องต้น ต้องบอกก่อนนะคะว่ายังมีข้อมูลอีกมากมายที่เกี่ยวกันการวางแผนมีลูก แต่เราขอนำเสนอข้อมูลไว้เพียงแค่นี้ก่อนนะคะ สำหรับคู่รักที่วางแผนจะมีลูกก็อยากจะให้เริ่มวางแผนจากการนับรอบวันประจำเดือน จดบันทึกข้อมูลจากการสังเกตร่างกายของตัวเอง และคุณผู้ชายก็เริ่มจากการดูแลสุขภาพตัวเอง และที่สำคัญคือต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพราะเราคือครอบครัวเดียวกันคะ

อ้างอิง

(1) Infertility surgery for men
(2) Trying to conceive