กรดไหลย้อน เป็นภาวะทั่วไปที่มีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือที่เรียกว่าอาการเสียดท้องบริเวณหน้าอกส่วนล่าง โรคนี้จะเกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร (1) โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease – GERD) จะเรียกว่าโรคได้ก็ต่อเมื่อ คุณมีกรดไหลย้อนเกิดขึ้นมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่หากคุณเป็นแค่ครั้งเดียวเราจะเรียกปฏิกิริยานี้ว่า “อาการกรดไหลย้อน” โรคที่เกิดจากกรดไหลย้อนเป็นอาการเกี่ยวกับลำไส้ที่พบบ่อยที่สุด โดยหลายคนอาจจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นกรดไหลย้อน แต่บางคนต้องทรมานและไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นอะไร
American College of Gastroenterology กล่าวว่าชาวอเมริกันกว่า 60 ล้านคนมีอาการเสียดท้องอย่างน้อยเดือนละครั้ง และอย่างน้อย 15 ล้านคน มีอาการเป็นประจำทุกวัน โรคกรดไหลย้อนจะพบมากที่สุดในผู้ใหญ่ ที่อยู่ในประเทศตะวันตก ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ (2) ซึ่งในประเทศไทยของเรา ก็มีผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนนี้เป็นจำนวนมาก เราอยากให้ทุกคนระมัดระวังและทำการรักษาค่ะเพราะอาการเสียดท้องเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ในอนาคต
สาเหตุของการเกิดกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน เป็นอาการที่กรดในกระเพาะอาหารบางส่วนไหลย้อนกลับขึ้นไปสู่หลอดอาหาร (1),(2),(3) ปกติแล้วกระเพาะอาหารของเราจะมีกรดไฮโดรคลอริกและเปปซิน ซึ่งเป็นกรดที่ช่วยย่อยอาหาร และป้องกันเชื้อโรคอย่างแบคทีเรีย (2) เยื่อบุกระเพาะอาหารของคนเราได้รับการดัดแปลงเป็นพิเศษเพื่อป้องกันกรดที่มีฤทธิ์แรง แต่โปรดรู้ว่าหลอดอาหารนั้นไม่ได้รับการปกป้อง ปกติแล้วร่างกายของเราจะมีกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (lower esophageal sphincter (LES)) ทำหน้าที่เป็นวาล์วที่ให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหาร แต่ไม่ย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร เมื่อวาล์วนี้ล้มเหลวและสารในกระเพาะอาหารถูกสำรอกเข้าไปในหลอดอาหารอาการของกรดไหลย้อนจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับอาการเสียดท้อง (1),(3)
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน ส่งผลกระทบต่อคนทุกวัยบางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุ บ่อยครั้งอาจเกิดจากปัจจัยการดำเนินชีวิต แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป สาเหตุหนึ่งที่ไม่สามารถป้องกันได้ก็คือ คุณเป็นโรคไส้เลื่อน หรือมีรูในกะบังลม ทำให้ส่วนบนของกระเพาะอาหารเข้าสู่ช่องอกซึ่งอาจนำไปสู่โรคกรดไหลย้อน (3) ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
- โรคอ้วน
- การสูบบุหรี่
- การไม่ออกกำลังกายหรือออกกำลังกายหนักเกินไป
- การใช้ยา รวมทั้งยาสำหรับโรคหอบหืด ตัวบล็อกแคลเซียม ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาระงับประสาท และยาแก้ซึมเศร้า
นอกจากนี้การตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เนื่องจากมีแรงกดที่อวัยวะภายในมากเกินไป นอกจากปัจจัยเรื่องภาวะภายนอกแล้ว อาหาร และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เชื่อมโยงกับกรดไหลย้อน ได้แก่ (4)
- คาเฟอีน
- แอลกอฮอล์
- การบริโภคเกลือหรือโซเดียมในปริมาณสูง
- ทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารต่ำ
- การรับประทานอาหารมื้อใหญ่มากเกินที่กระเพาะอาหารจะรับได้
- การนอนภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารโดยที่ไม่เดินย่อยก่อน
- การบริโภคช็อกโกแลต เครื่องดื่มอัดลมและน้ำผลไม้ที่เป็นกรด
การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่าการเลือกรับประทานอาหารอาจมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้lkiยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors (PPIs)) ในการรักษากรดไหลย้อน (5)
อาการของกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน มักทำให้เกิดอาการเสียดท้องไม่ว่าจะเกิดจากการกินมากเกินไป หรือเกิดกรดไหลย้อนเพียงครั้งเดียว กรดไหลย้อนคือความรู้สึกแสบร้อนที่ไม่สบายตัวที่เกิดขึ้นในหลอดอาหารและรู้สึกได้ที่หลังบริเวณกระดูกหน้าอก (1),(2),(6),(7) อาการนี้มีแนวโน้มที่จะแย่ลงเมื่อนอนราบหรืองอตัว อาการอาจอยู่ได้หลายชั่วโมงและมักจะแย่ลงหลังจากรับประทานอาหาร ความเจ็บปวดจากอาการเสียดท้องอาจเคลื่อนขึ้นไปที่หน้าอกและลำคอ ของเหลวในกระเพาะอาหารสามารถเข้าไปถึงด้านหลังของลำคอได้ในบางกรณีทำให้มีรสขมหรือเปรี้ยว (เรอเปรี้ยว) หากอาการเสียดท้องเกิดขึ้นสองครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์เรียกสั้น ๆ ว่า GERD และยังมีอาการอื่น ๆ ของ GERD ได้แก่ (6),(7)
- ไอแห้ง
- หายใจไม่ออก
- โรคหอบหืดและโรคปอดบวมกำเริบ
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปัญหาเกี่ยวกับลำคอ เช่น เสียงแหบหรือกล่องเสียงอักเสบ
- มีความเจ็บปวดเมื่อกลืนกินอาหาร
- ปวดหน้าอกหรือท้องส่วนบน
- มีการสึกกร่อนของฟัน
- มีกลิ่นปาก
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน
หากไม่มีการรักษาโรคกรดไหลย้อนสามารถนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงในระยะยาวรวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง การได้รับกรดในกระเพาะอาหารอย่างต่อเนื่องสามารถทำลายหลอดอาหารนำไปสู่อาการดังต่อไปนี้ (8)
- Esophagitis : เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง มีเลือดออกและมีบาดแผลในบางกรณี
- Strictures : มีความเสียหายที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารนำไปสู่การพัฒนาของแผลเป็นและการกลืนลำบากโดยอาหารจะติดค้างเมื่อเดินทางลงหลอดอาหาร
- หลอดอาหารบาร์เร็ตต์ (Barrett’s esophagus) : ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงซึ่งการได้รับกรดในกระเพาะอาหารซ้ำ ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์และเนื้อเยื่อที่เยื่อบุหลอดอาหารซึ่งอาจทำให้เกิดเซลล์มะเร็งได้
ทั้งอาการหลอดอาหารอักเสบและหลอดอาหารบาร์เร็ตต์มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็ง (8),(9)
วิธีป้องกันอาการกรดไหลย้อนง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้ยา
หากคุณมีเสียงแหบ ไอ และมีอาการเจ็บคอ คุณอาจกำลังเตรียมตัวเป็นหวัด หรือไม่ก็เป็นไข้หวัด แต่ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องสักระยะหนึ่งแล้วยังไม่หายไป อาการเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากไวรัส แต่อาจเกิดจาก ลิ้น ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง นั่นคือกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ควบคุมทางเดินอาหารระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร และเมื่อมันทำงานผิดพลาด กล่าวคือปิดไม่สนิทกรดในกระเพาะอาหารและอาหารที่คุณทานเข้าไปจะไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้คุณมีอาการต่าง ๆ แน่นอนมันทรมาน ฉะนั้นวันนี้เรามีวิธีป้องกันอาการเหล่านี้ โดยไม่ต้องใช้ยามาแนะนำค่ะ เพื่อลดโอกาสที่คุณจะมีอาการกรดไหลย้อน (10)
1. ทานอาหารเท่าที่จำเป็นและทานช้า ๆ
เมื่อท้องอิ่มมากเกินไปอาจมีกรดไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ หากทำได้ให้ลองรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ ให้บ่อยมากกว่าการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อต่อวัน แนะนำให้เคี้ยวอาหารช้า ๆ ไม่ควรเคี้ยวเร็วเกินไปเพราะการเคี้ยวเร็วจะทำให้ฟันบดอาหารไม่ละเอียด ส่งผลให้กระเพาะทำงานหนักและเกิดกรดไหลย้อนในที่สุด
2. หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด
อาหารบางชนิดมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากกว่าอาหารอื่น ๆ เช่น มินต์ อาหารที่มีไขมัน อาหารรสเผ็ด มะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม กาแฟ ชาช็อกโกแลต และโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ (4) หากคุณรับประทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำคุณอาจลองเลิกทานอาหารเหล่านี้เพื่อดูว่าการทำเช่นนั้นสามารถควบคุมกรดไหลย้อนได้หรือไม่ หากควบคุมได้ก็เริ่มลองทานใหม่และดูว่าอาหารอะไรทำให้ร่างกายคุณเกิดกรดไหลย้อน หากคุณมีปัญหาในการทานอาหารหลายเว็บไซต์ก็มีเคล็ดลับการรับประทานอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนโดยเฉพาะค่ะ
3. อย่าดื่มเครื่องดื่มอัดลม
การดื่มเครื่อมอัดลม เช่น น้ำอัดลม สปาร์คลิ่ง หรือเครื่องดื่มทั่วไป ที่มีการอัดลม เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มันจะทำให้คุณเรอซึ่งจะส่งกรดเข้าไปในหลอดอาหาร และทำให้เป็นกรดไหลย้อน (4) แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม
4. ห้ามนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร
เมื่อคุณยืนหรือนั่งแรงโน้มถ่วงเพียงอย่างเดียวจะช่วยกักเก็บกรดไว้ในกระเพาะอาหาร รับประทานอาหารให้เสร็จก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่าห้ามงีบหลับหลังทานอาหารกลางวันและงดอาหารมื้อดึกหรือของว่างตอนเที่ยงคืน
5. อย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป
หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลา 2 -3 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารแต่คุณสามารถเดินเล่นแบบช้า ๆ ได้ โปรดรู้ไว้ว่าการออกกำลังกายที่หนักมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกี่ยวข้องกับการก้มตัวอาจส่งกรดเข้าสู่หลอดอาหารของคุณได้
6. นอนหมอนให้สูงขึ้น
ตามหลักการแล้วในการนอนศีรษะของคุณควรสูงกว่าเท้าของคุณ 6 ถึง 8 นิ้ว คุณสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้โดยใช้ “เตียงสูงพิเศษ” ที่ขาหนุนหัวเตียงของคุณ หากคู่นอนของคุณคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ลองใช้ลิ่มโฟมพยุงร่างกายส่วนบนของคุณ อย่าพยายามสร้างหมอนที่สูงด้วยการซ้อนหมอน เพราะมันจะไม่ให้การสนับสนุนตามที่คุณต้องการ
7. ลดน้ำหนักหากได้รับคำแนะนำ
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะกระจายโครงสร้างของกล้ามเนื้อที่รองรับกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างเพื่อลดความดันที่ปิดหูรูด สิ่งนี้นำไปสู่การเกิดกรดไหลย้อนและอาการเสียดท้อง
8. ถ้าคุณสูบบุหรี่ให้เลิก
สารนิโคตินในบุหรี่อาจทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว (11) แนะนำให้เลิกสูบบุหรี่เพราะบุหรี่ไม่ได้ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังทำอาการกรดไหลย้อนแย่ลงอีกด้วย
9. ตรวจสอบยาของคุณ
สารเคมีบางตัวรวมถึงเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือน ยาซึมเศร้า tricyclic และยาแก้ปวดต้านการอักเสบสามารถทำให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัวได้ ในขณะที่ยาอื่น ๆ โดยเฉพาะยากลุ่ม bisphosphonates เช่น alendronate (Fosamax) ibandronate (Boniva) หรือ risedronate (Actonel) จะใช้เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก แต่ยาประเภทนี้อาจทำให้หลอดอาหารระคายเคือง
หากขั้นตอนเหล่านี้ไม่ได้ผลหรือหากคุณมีอาการปวดอย่างรุนแรงหรือกลืนลำบากให้ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ คุณอาจต้องใช้ยาเพื่อควบคุมกรดไหลย้อนแม้ว่าคุณจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแล้วก็ตาม
อ้างอิง
(1) Gastroesophageal Reflux Disease (GERD)
(2) Gastroesophageal Reflux Disease
(3) Risk factors for gastroesophageal reflux disease and analysis of genetic contributors
(6) Gastro-oesophageal reflux disease
(7) Symptoms & Causes of GER & GERD
(8) Gastroesophageal reflux disease and non-esophageal cancer
(9) Barrett’s Esophagus and Cancer Risk: How Research Advances Can Impact Clinical Practice
(10) 9 ways to relieve acid reflux without medication
(11) Mechanisms of acid reflux associated with cigarette smoking.