เช็กอาการ ‘กรดไหลย้อน’ …โรคที่คุณไม่ควรมองข้าม !

กรดไหลย้อน เป็นภาวะทั่วไปที่มีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือที่เรียกว่าอาการเสียดท้องบริเวณหน้าอกส่วนล่าง โรคนี้จะเกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร (1) โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease – GERD) จะเรียกว่าโรคได้ก็ต่อเมื่อ คุณมีกรดไหลย้อนเกิดขึ้นมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่หากคุณเป็นแค่ครั้งเดียวเราจะเรียกปฏิกิริยานี้ว่า “อาการกรดไหลย้อน” โรคที่เกิดจากกรดไหลย้อนเป็นอาการเกี่ยวกับลำไส้ที่พบบ่อยที่สุด โดยหลายคนอาจจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นกรดไหลย้อน แต่บางคนต้องทรมานและไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นอะไร

American College of Gastroenterology กล่าวว่าชาวอเมริกันกว่า 60 ล้านคนมีอาการเสียดท้องอย่างน้อยเดือนละครั้ง และอย่างน้อย 15 ล้านคน มีอาการเป็นประจำทุกวัน โรคกรดไหลย้อนจะพบมากที่สุดในผู้ใหญ่ ที่อยู่ในประเทศตะวันตก ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ (2) ซึ่งในประเทศไทยของเรา ก็มีผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนนี้เป็นจำนวนมาก เราอยากให้ทุกคนระมัดระวังและทำการรักษาค่ะเพราะอาการเสียดท้องเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ในอนาคต

สาเหตุของการเกิดกรดไหลย้อน 

กรดไหลย้อน เป็นอาการที่กรดในกระเพาะอาหารบางส่วนไหลย้อนกลับขึ้นไปสู่หลอดอาหาร (1),(2),(3) ปกติแล้วกระเพาะอาหารของเราจะมีกรดไฮโดรคลอริกและเปปซิน ซึ่งเป็นกรดที่ช่วยย่อยอาหาร และป้องกันเชื้อโรคอย่างแบคทีเรีย (2) เยื่อบุกระเพาะอาหารของคนเราได้รับการดัดแปลงเป็นพิเศษเพื่อป้องกันกรดที่มีฤทธิ์แรง แต่โปรดรู้ว่าหลอดอาหารนั้นไม่ได้รับการปกป้อง ปกติแล้วร่างกายของเราจะมีกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (lower esophageal sphincter (LES)) ทำหน้าที่เป็นวาล์วที่ให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหาร แต่ไม่ย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร เมื่อวาล์วนี้ล้มเหลวและสารในกระเพาะอาหารถูกสำรอกเข้าไปในหลอดอาหารอาการของกรดไหลย้อนจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับอาการเสียดท้อง (1),(3)

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกรดไหลย้อน 

โรคกรดไหลย้อน ส่งผลกระทบต่อคนทุกวัยบางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุ บ่อยครั้งอาจเกิดจากปัจจัยการดำเนินชีวิต แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป สาเหตุหนึ่งที่ไม่สามารถป้องกันได้ก็คือ คุณเป็นโรคไส้เลื่อน หรือมีรูในกะบังลม ทำให้ส่วนบนของกระเพาะอาหารเข้าสู่ช่องอกซึ่งอาจนำไปสู่โรคกรดไหลย้อน (3) ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน 

  • โรคอ้วน
  • การสูบบุหรี่ 
  • การไม่ออกกำลังกายหรือออกกำลังกายหนักเกินไป
  • การใช้ยา รวมทั้งยาสำหรับโรคหอบหืด ตัวบล็อกแคลเซียม ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาระงับประสาท และยาแก้ซึมเศร้า

นอกจากนี้การตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เนื่องจากมีแรงกดที่อวัยวะภายในมากเกินไป นอกจากปัจจัยเรื่องภาวะภายนอกแล้ว อาหาร และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เชื่อมโยงกับกรดไหลย้อน ได้แก่ (4)

  • คาเฟอีน
  • แอลกอฮอล์
  • การบริโภคเกลือหรือโซเดียมในปริมาณสูง
  • ทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารต่ำ
  • การรับประทานอาหารมื้อใหญ่มากเกินที่กระเพาะอาหารจะรับได้
  • การนอนภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารโดยที่ไม่เดินย่อยก่อน
  • การบริโภคช็อกโกแลต เครื่องดื่มอัดลมและน้ำผลไม้ที่เป็นกรด

การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่าการเลือกรับประทานอาหารอาจมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้lkiยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors (PPIs)) ในการรักษากรดไหลย้อน (5)

อาการของกรดไหลย้อน

อาการของกรดไหลย้อน 

กรดไหลย้อน มักทำให้เกิดอาการเสียดท้องไม่ว่าจะเกิดจากการกินมากเกินไป หรือเกิดกรดไหลย้อนเพียงครั้งเดียว กรดไหลย้อนคือความรู้สึกแสบร้อนที่ไม่สบายตัวที่เกิดขึ้นในหลอดอาหารและรู้สึกได้ที่หลังบริเวณกระดูกหน้าอก (1),(2),(6),(7) อาการนี้มีแนวโน้มที่จะแย่ลงเมื่อนอนราบหรืองอตัว อาการอาจอยู่ได้หลายชั่วโมงและมักจะแย่ลงหลังจากรับประทานอาหาร ความเจ็บปวดจากอาการเสียดท้องอาจเคลื่อนขึ้นไปที่หน้าอกและลำคอ ของเหลวในกระเพาะอาหารสามารถเข้าไปถึงด้านหลังของลำคอได้ในบางกรณีทำให้มีรสขมหรือเปรี้ยว (เรอเปรี้ยว) หากอาการเสียดท้องเกิดขึ้นสองครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์เรียกสั้น ๆ ว่า GERD และยังมีอาการอื่น ๆ ของ GERD ได้แก่ (6),(7)

  • ไอแห้ง
  • หายใจไม่ออก
  • โรคหอบหืดและโรคปอดบวมกำเริบ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปัญหาเกี่ยวกับลำคอ เช่น เสียงแหบหรือกล่องเสียงอักเสบ
  • มีความเจ็บปวดเมื่อกลืนกินอาหาร
  • ปวดหน้าอกหรือท้องส่วนบน
  • มีการสึกกร่อนของฟัน
  • มีกลิ่นปาก

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน

หากไม่มีการรักษาโรคกรดไหลย้อนสามารถนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงในระยะยาวรวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง การได้รับกรดในกระเพาะอาหารอย่างต่อเนื่องสามารถทำลายหลอดอาหารนำไปสู่อาการดังต่อไปนี้ (8)

  • Esophagitis : เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง มีเลือดออกและมีบาดแผลในบางกรณี
  • Strictures : มีความเสียหายที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารนำไปสู่การพัฒนาของแผลเป็นและการกลืนลำบากโดยอาหารจะติดค้างเมื่อเดินทางลงหลอดอาหาร
  • หลอดอาหารบาร์เร็ตต์ (Barrett’s esophagus) : ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงซึ่งการได้รับกรดในกระเพาะอาหารซ้ำ ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์และเนื้อเยื่อที่เยื่อบุหลอดอาหารซึ่งอาจทำให้เกิดเซลล์มะเร็งได้

ทั้งอาการหลอดอาหารอักเสบและหลอดอาหารบาร์เร็ตต์มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็ง (8),(9)

วิธีป้องกันอาการกรดไหลย้อนง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้ยา 

หากคุณมีเสียงแหบ ไอ และมีอาการเจ็บคอ คุณอาจกำลังเตรียมตัวเป็นหวัด หรือไม่ก็เป็นไข้หวัด แต่ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องสักระยะหนึ่งแล้วยังไม่หายไป อาการเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากไวรัส แต่อาจเกิดจาก ลิ้น ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง นั่นคือกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ควบคุมทางเดินอาหารระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร และเมื่อมันทำงานผิดพลาด กล่าวคือปิดไม่สนิทกรดในกระเพาะอาหารและอาหารที่คุณทานเข้าไปจะไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้คุณมีอาการต่าง ๆ แน่นอนมันทรมาน ฉะนั้นวันนี้เรามีวิธีป้องกันอาการเหล่านี้ โดยไม่ต้องใช้ยามาแนะนำค่ะ เพื่อลดโอกาสที่คุณจะมีอาการกรดไหลย้อน (10)

1. ทานอาหารเท่าที่จำเป็นและทานช้า ๆ 

เมื่อท้องอิ่มมากเกินไปอาจมีกรดไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ หากทำได้ให้ลองรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ ให้บ่อยมากกว่าการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อต่อวัน แนะนำให้เคี้ยวอาหารช้า ๆ ไม่ควรเคี้ยวเร็วเกินไปเพราะการเคี้ยวเร็วจะทำให้ฟันบดอาหารไม่ละเอียด ส่งผลให้กระเพาะทำงานหนักและเกิดกรดไหลย้อนในที่สุด

2. หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด

อาหารบางชนิดมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากกว่าอาหารอื่น ๆ เช่น มินต์ อาหารที่มีไขมัน อาหารรสเผ็ด มะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม กาแฟ ชาช็อกโกแลต และโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ (4) หากคุณรับประทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำคุณอาจลองเลิกทานอาหารเหล่านี้เพื่อดูว่าการทำเช่นนั้นสามารถควบคุมกรดไหลย้อนได้หรือไม่ หากควบคุมได้ก็เริ่มลองทานใหม่และดูว่าอาหารอะไรทำให้ร่างกายคุณเกิดกรดไหลย้อน หากคุณมีปัญหาในการทานอาหารหลายเว็บไซต์ก็มีเคล็ดลับการรับประทานอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนโดยเฉพาะค่ะ

3. อย่าดื่มเครื่องดื่มอัดลม

การดื่มเครื่อมอัดลม เช่น น้ำอัดลม สปาร์คลิ่ง หรือเครื่องดื่มทั่วไป ที่มีการอัดลม เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มันจะทำให้คุณเรอซึ่งจะส่งกรดเข้าไปในหลอดอาหาร และทำให้เป็นกรดไหลย้อน (4) แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม

4. ห้ามนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร

เมื่อคุณยืนหรือนั่งแรงโน้มถ่วงเพียงอย่างเดียวจะช่วยกักเก็บกรดไว้ในกระเพาะอาหาร รับประทานอาหารให้เสร็จก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่าห้ามงีบหลับหลังทานอาหารกลางวันและงดอาหารมื้อดึกหรือของว่างตอนเที่ยงคืน

5. อย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป

หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลา 2 -3 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารแต่คุณสามารถเดินเล่นแบบช้า ๆ ได้ โปรดรู้ไว้ว่าการออกกำลังกายที่หนักมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกี่ยวข้องกับการก้มตัวอาจส่งกรดเข้าสู่หลอดอาหารของคุณได้

6. นอนหมอนให้สูงขึ้น

ตามหลักการแล้วในการนอนศีรษะของคุณควรสูงกว่าเท้าของคุณ 6 ถึง 8 นิ้ว คุณสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้โดยใช้ “เตียงสูงพิเศษ” ที่ขาหนุนหัวเตียงของคุณ หากคู่นอนของคุณคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ลองใช้ลิ่มโฟมพยุงร่างกายส่วนบนของคุณ อย่าพยายามสร้างหมอนที่สูงด้วยการซ้อนหมอน เพราะมันจะไม่ให้การสนับสนุนตามที่คุณต้องการ

7. ลดน้ำหนักหากได้รับคำแนะนำ

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะกระจายโครงสร้างของกล้ามเนื้อที่รองรับกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างเพื่อลดความดันที่ปิดหูรูด สิ่งนี้นำไปสู่การเกิดกรดไหลย้อนและอาการเสียดท้อง

8. ถ้าคุณสูบบุหรี่ให้เลิก

สารนิโคตินในบุหรี่อาจทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว (11) แนะนำให้เลิกสูบบุหรี่เพราะบุหรี่ไม่ได้ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังทำอาการกรดไหลย้อนแย่ลงอีกด้วย 

9. ตรวจสอบยาของคุณ

สารเคมีบางตัวรวมถึงเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือน ยาซึมเศร้า tricyclic และยาแก้ปวดต้านการอักเสบสามารถทำให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัวได้ ในขณะที่ยาอื่น ๆ โดยเฉพาะยากลุ่ม bisphosphonates เช่น alendronate (Fosamax) ibandronate (Boniva) หรือ risedronate (Actonel) จะใช้เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก แต่ยาประเภทนี้อาจทำให้หลอดอาหารระคายเคือง

หากขั้นตอนเหล่านี้ไม่ได้ผลหรือหากคุณมีอาการปวดอย่างรุนแรงหรือกลืนลำบากให้ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ คุณอาจต้องใช้ยาเพื่อควบคุมกรดไหลย้อนแม้ว่าคุณจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแล้วก็ตาม


อ้างอิง 

(1) Gastroesophageal Reflux Disease (GERD)

(2) Gastroesophageal Reflux Disease

(3) Risk factors for gastroesophageal reflux disease and analysis of genetic contributors

(4) The role of diet in the development and management of gastroesophageal reflux disease: why we feel the burn

(5) A Comparison of Alkaline Water and Mediterranean Diet vs Proton Pump Inhibition for Treatment of Laryngopharyngeal Reflux

(6) Gastro-oesophageal reflux disease

(7) Symptoms & Causes of GER & GERD

(8) Gastroesophageal reflux disease and non-esophageal cancer

(9) Barrett’s Esophagus and Cancer Risk: How Research Advances Can Impact Clinical Practice

(10) 9 ways to relieve acid reflux without medication

(11) Mechanisms of acid reflux associated with cigarette smoking.