อุจจาระ (อึ) ของลูกน้อย บอกอะไรเราได้บ้าง ?

ฝึกลูกนอนยาว

บทความนี้เกี่ยวกับอุจจาระลูกน้อยวัยทารก อาจจะฟังดูแปลกๆใช่มั๊ยคะว่าทำไมต้องอ่านบทความนี้ ผู้ใหญ่หลายคน และเราก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ก่อนจะกดชักโครกก็ต้องเหลือบมองอุจจาระสักหน่อยว่าลักษณะรูปร่างและสีเป็นอย่างไร เพราะเราทุกคนต่างรู้กันดีว่าอุจจาระบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ แล้วยิ่งลูกน้อยของเราที่ยังไม่สามารถสื่อสารได้ว่าเค้ารู้สึกอย่างไร มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า เราขอเรียกอุจจาระว่า “อึ” นะคะ เพราะเป็นคำที่คุ้นชินกันอยู่แล้ว เรามาเริ่มรู้จักลักษณะอึของลูกกันเลยดีกว่าค่ะ

ลูกอึบ่อยขนาดไหน?

ซึ่งอันนี้ก็แตกต่างกันไป โดยจะขึ้นอยู่กับอายุและปริมาณที่ลูกทาน โดยทั่วไปทารกที่ทานนมแม่ (Breastfeeding) จะเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย คือเรียกว่าทานแล้วถ่ายออกได้เลยในทารกบางคน ซึ่งจะเป็นแบบนี้ไปในช่วงแค่เดือนแรกเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะไม่อึบ่อยขนาดนั้น อาจจะทิ้งระยะเวลาไปถึง 7-10 วันเลยก็ได้นะคะ แต่ถ้าลูกทานนมผง (Formula feeding) ทารกอาจตะอึแค่ครั้งเดียวต่อวันเท่านั้น (1) 

ลูกปัสาวะ(ฉี่)บ่อยขนาดไหน?

มันช่างยากจะรู้ได้ว่าลูกฉี่บ่อยขนาดไหน เพราะว่าวิวัฒนาการของผ้าอ้อมสำเร็จรูปในปัจจุบันซึมซับได้ดี แต่คุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าไม่ชื้นแฉะเกินไป เราจะเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกประมาณ 6-8 ผืนต่อวัน ในช่วงแรกเกิด ซึ่งคุณแม่หลายท่านคงเกิดการกังวลว่าลูกดื่มนมเพียงพอหรือเปล่า แต่ไม่ต้องกังวลมากเกินไปค่ะ เพราะถ้าผ้าอ้อมลูกหนักนั่นก็หมายถึงลูกดื่มเพียงพอ โดยฉี่ก็บ่งบอกถึงสุขภาพได้เช่นเดียวกัน โดยฉี่ที่ดีควรมีสีอ่อนและไม่มีกลิ่น ถ้าลูกฉี่ออกมามีสีที่เข้มและมีกลิ่น คุณควรพาลูกไปพบแพทย์ (3) 

สี “อึ” ของลูก สามารถบ่งบอกอะไรให้เราได้รับรู้บ้าง

สีของอึลูก บอกอะไรได้บ้าง? 

อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่าอึลูกบ่งบอกถึงสุขภาพได้ (3) ก่อนที่จะวิตกกังวล อย่าลืมว่าทานอะไรไปก็จะออกมาอย่างนั้น คือถ้าลูกเริ่มทานอาหารแล้วอึก็อาจจะมีสีที่แตกต่างกันไป เรามาเริ่มดูกันค่ะว่าอึจะมีสีอะไรได้บ้าง

1. อึแรกของลูก ขี้เทา (Meconium)

หลังจากคลอดลูกน้อยออกมาแล้วประมาณ 12-24 ชั่วโมงลูกน้อยจะอึเป็นครั้งแรก อึจะมีลักษณะเหนียว ไม่มีกลิ่น (อันนี้ได้ทดลองมาด้วยตนเองจริงๆค่ะ สูดดมมาแล้ว) สีเข้มดำ ซึงมีส่วนผสมของน้ำดีและสารอื่นๆที่ทารกในครรภ์กลืนกิน หลังสามนั้นประมาณ 3 วัน อึลูกจะสีสว่างขึ้นและเหลวขึ้น ง่ายต่อการทำความสะอาด (2) 

2. อึของทารกที่ทานนมแม่

อึของลูกจะมีสีเหลือง หรือสีเขียวอ่อนๆ ลักษณะนิ่มๆ เหลวคล้ายท้องร่วง และอาจจะมาเหมือนเม็ดขาว โดยใครจะไปคิดว่ากลิ่นจะหอมแตกต่างอึทั่วไป เนื่องจากอึมีสีหลายเฉดที่ต่างกันไป ถ้าอึลูกมีสีเขียวที่เข้มขึ้นกว่าปกติสักเล็กน้อย แต่ถ้าลูกยังยิ้มแย้มปกติ ไม่ได้แสดงอาการป่วย คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ (1) 

3. อึทารกที่ทานนมผง

ลักษณะจะเหลวแต่น้อยกว่าอึทารกทานนมแม่ คล้ายกับเนยถั่ว สีเหลืองหรือน้ำตาล ซึ่งก็มีหลายเฉดต่างกันไป กลิ่นจะค่อนข้างแรงกว่าทารกที่ทานนมแม่

4. อึสีเขียว หรือดำ

ถ้าทารกได้รับสารเสริมอาหารธาตุเหล็ก อึของทารกที่มีสีเขียวหรือเกือบดำ ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ถ้าทารกแรกเกิดไม่ได้ทานธาตุเหล็กแล้วอึสีดำ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์นะคะ

5. อึของลูกที่เริ่มทานอาหาร

เมื่อลูกเริ่มทานอาหารแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอึของลูกจะเปลี่ยนไป โดยสีจะมีสีน้ำตาล หรือน้ำตาลเข้ม และลักษณะจะเหนียวกว่าเนยถั่วแต่ยังนิ่มอยู่ กลิ่นค่อนข้างแรง ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าสีของอึจะมาจากอาหารที่ลูกทานไป เช่นถ้าลูกทานแครอท อึของลูกก็อาจจะออกเป็นสีส้มๆ เป็นต้น

6. อึที่มีเศษอาหารปนอยู่

บางครั้งลูกก็จะอึแล้วมีเศษอาหารปนอยู้ด้วย โดยเฉพาะถ้าคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกทานแบบหยิบทานเอง (baby-led weaning-BLW) ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะลูกน้อยกำลังเรียนรู้การเคี้ยว และระบบย่อยอาหารของลูกก็กำลังพัฒนา ซึ่งก็เป็นปกติที่อาหารบางส่วนได้ออกมาทางอึแบบเป็นชิ้นเล็กๆ ถ้าลูกน้อยยังคงมีอึแบบนี้เป็นเวลานาน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพราะจะได้ตรวจสอบว่าลำไส้ทำงานได้ปกติหรือไม่

7. อึเหลว ท้องเสีย

ซึ่งถ้าลูกมีอึเช่นนี้จะมีสีเหลือง สีเขียว หรือสีน้ำตาล บางครั้งอาจจะเปื้อนออกมานอกผ้าอ้อมได้ง่าย อาการท้องเสียเช่นนี้เป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรืออาการแพ้ ถ้าลูกอึเหลวมาเป็นระยะ 1-2 วัน ควรพาลูกไปพบแพทย์

8. อึแข็งเป็นก้อน

หากลูกอึแข็งคล้ายก้อนกรวด นี่คือสาเหตุของท้องผูก (4) ลูกน้อยจะไม่สบายตัวช่วงกำลังถ่าย บางครั้งอาจะเลือดปนด้วยเนื่องจากการเสียดสีระหว่างการถ่าย อึแข็งบ่อยครั้งเกิดขึ้นเมื่อให้ลูกเริ่มทานอาหาร ไม่มีอะไรน่ากังวลหรอกค่ะ การท้องผูกอาจจะเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอหรือแพ้อาหารก็ได้ค่ะ

9. อึมีมูกเหลวปน

หากลูกอึออกมาเหลวเหมือนสไลม์ สีเขียววาว บางครั้งลูกจะมีอึแบบนี้ช่วยฟังกำลังจะงอก มีไข้ นั่นก็เป็นเหตุให้ร่างกายผลิตมูกขึ้นมา อย่างไรก็ตามแต่มูกในอึสามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อและแพ้อาหารได้

10. อึมีเลือดปนออกมา

อาจจะมีหลายสาเหตุ เช่น ท้องผูก (4), การระคายเคืองจากผ้าอ้อม หรือถ้าคุณแม่ให้นมลูกด้วยตนเอง หากลูกกัดหัวนมทำให้เกิดเลือดไหล แล้วลูกก็ทานเลือดนั้นลงไป ถ้าลูกมีอึลักษณะนี้ควรพาไปพบแพทย์

มันก็แปลกดีใช่มั๊ยค่ะว่าเราต้องมานั่งเรียนรู้เรื่องอึ แต่นี่คือทางที่จะช่วยลูกได้หากมีอะไรผิดปกติ ซึ่งใช้เป็นการประกอบสุขภาพของลูกได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยกันสังเกตอึของลูกน้อยด้วยนะคะ


อ้างอิง 

(1) Defecation patterns of the infants mainly breastfed from birth till the 12th month: Prospective cohort study

(2) Meconium

(3) What are some of the basics of infant health?

(4) Constipation in infants and children