ซื้อ ครีมกันแดด ต้องดูที่อะไรบ้าง ? SPF / PA / UVA / UVB

วิธีเลือกซื้อครีมกันแดด
วิธีเลือกซื้อครีมกันแดด

ตอนนี้ฤดูร้อนมาถึงแล้วค่ะ เมื่อฤดูร้อนมาถึงก็ได้เวลาปิกนิกกับครอบครัว จัดงานเลี้ยงริมสระน้ำ และไปเที่ยวชายหาดพร้อมกับครอบครัว แน่นอนว่าการมีเวลาอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นสิ่งที่ดี สำหรับความผูกพันในครอบครัว เพราะมันจะช่วยกระตุ้นอารมณ์และช่วยให้คุณได้รับวิตามินดีที่จำเป็นมาก ๆ แต่เมื่อเผชิญกับแสงแดดคุณต้องเจอกับความเสี่ยงมากมาย นั่นเป็นเพราะดวงอาทิตย์ทำให้คุณได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต และรังสียูวี ซึ่งรังสียูวีนั้นจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มันจะถูกจำแนกตามความยาวคลื่น รังสี UV แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ อัลตราไวโอเลต A (UVA) อัลตราไวโอเลต B (UVB) และอัลตราไวโอเลต C (UVC) กลุ่มเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการวัดความยาวคลื่นซึ่งวัดเป็นนาโนเมตร (นาโนเมตร = 0.000000001 เมตรหรือ 1 × 10-9 เมตร) (1)

รังสี UVC และรังสี UVB ส่วนใหญ่จะถูกดูดซับโดยชั้นโอโซนของโลก ดังนั้นรังสีอัลตราไวโอเลตเกือบทั้งหมดที่ได้รับบนโลกคือ รังสี UVA ทั้งรังสี UVA และ UVB สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ และมีโอกาสก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ด้วย (2) แม้ว่ารังสี UVA จะอ่อนกว่า UVB แต่มันก็สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ลึกกว่า และมีความคงที่ตลอดทั้งปี ส่วนรังสี UVC ถูกดูดซับโดยชั้นโอโซนของโลก จึงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากนัก (1)

หากคุณกำลังจะออกแดดสิ่งสำคัญคือ ต้องทา ครีมกันแดด เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวไหม้ ผิวแก่ก่อนวัย และมะเร็งผิวหนัง (1),(2) ไม่ว่าคุณจะออกไปว่ายน้ำที่ชายหาด หรือออกไปเดินป่าอย่างสนุกสนาน การทาครีมกันแดดก็ควรเป็นส่วนหนึ่งของวันปกติของคุณ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญก็คือ ต้องรู้ว่าควรเลือกครีมกันแดดประเภทใด เมื่อเลือกครีมกันแดดคุณต้องคำนึงถึงปัจจัยป้องกันแสงแดด (SPF) ส่วนผสม และสำรวจว่าคุณต้องการครีมกันแดดชนิดพิเศษ สำหรับผิว หรือกิจกรรมของคุณหรือไม่ นอกจากนี้คุณควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัย และอาการแพ้ส่วนผสมด้วย ซึ่งถ้าหากวันนี้คุณต้องการซื้อครีมกันแดดเรามีเคล็ดลับมาแนะนำกันค่ะ

รังสี UVA และ UVB ทำงานอย่างไร?

ดวงอาทิตย์ปล่อยรังสีออกมาหลากหลายประเภทโดยส่วนใหญ่ที่เรารู้จักคือ อัลตราไวโอเลต A (UVA) และอัลตราไวโอเลต B (UVB) ซึ่งทั้งสองประเภทนี้เป็นตัวการที่ทำลายผิวของคุณ รังสีทั้งสองนั้นมีความแตกต่างกันตรงที่ รังสี UVB มีความยาวคลื่นสั้นที่มาถึงชั้นนอกของผิวหนัง (หนังกำพร้า) ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการไหม้แดด ส่วนรังสี UVA มีความยาวคลื่นที่ยาวกว่าซึ่งสามารถทะลุผ่านชั้นกลางของผิวหนังของคุณได้ (ผิวหนังชั้นหนังแท้) (3) สามารถทำให้ผิวของคุณแก่ก่อนวัยทำให้เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำ (3),(4) ด้วยเหตุนี้คุณจะต้องแน่ใจว่าครีมกันแดดของคุณมีการระบุว่า “สเปกตรัมกว้าง (Broad Spectrum)” เพื่อการป้องกันรังสียูวีแบบทั่วถึง หากคุณเคยอาศัยอยู่ในต่างประเทศ Broad Spectrum เป็นคำที่คุณมักจะเห็นบ่อยที่สุดเนื่องจากครีมกันแดดส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) (5)

ดวงอาทิตย์ปล่อยรังสีออกมาหลากหลายประเภท

ประเภทของครีมกันกันแดด

สารออกฤทธิ์ในครีมกันแดดทำงานโดยการสร้างตัวกรองรังสียูวีเพื่อป้องกันไม่ให้รังสียูวีที่เป็นอันตรายทะลุผ่านผิวหนัง ครีมกันแดดนั้นมี 2 ประเภท ได้แก่ ครีมกันแดดมิเนอรัลและครีมกันแดดเคมี แต่ละประเภทใช้กลไกที่แตกต่างกันในการกรองรังสียูวีและปกป้องผิวจากความเสียหาย

ครีมกันแดดมิเนอรัล (Mineral Sunscreens)

ครีมกันแดดมิเนอรัล จะทำหน้าที่เป็นตัวปิดกั้นทางกายภาพโดยการเบี่ยงเบนและกระจายรังสียูวีออกไปจากผิวหนังเหมือนกระจกเล็ก ๆ ครีมกันแดดมิเนอรัลจึงป้องกันทั้งรังสี UVA และ UVB นอกจากนี้ครีมกันแดดมิเนอรัล สามารถสร้างอุปสรรคทางกายภาพจึงมีผลทันทีที่ทาจึงไม่จำเป็นต้องรอ 30 นาที ครีมกันแดดมิเนอรัลมักจะมีสีขาวและสามารถมองเห็นได้บนผิวหนัง แต่ครีมกันแดดมิเนอรัลสามารถจางหายไปได้อย่างรวดเร็วหากเหงื่อออก ซึ่งทำให้จำเป็นต้องใช้ซ้ำบ่อยครั้ง ครีมกันแดดมิเนอรัลส่วนใหญ่ จะมีส่วนผสมของไททาเนียมไดออกไซด์ และสังกะสีไดออกไซด์ ในบางยี่ห้ออาจใช้ทั้งสองอย่างร่วมกัน

    • จุดเด่น : ป้องกันรังสี UVA และ UVB ได้เต็มที่ มีผลในทันทีและจะไม่อุดตันรูขุมขน
    • จุดด้อย : จำเป็นต้องทาซ้ำบ่อยครั้งและอาจทิ้งคราบสีขาวไว้บนผิวหนัง หากต้องการใช้ครีมกันแดดแบบมิเนอรัลควรหลีกเลี่ยงครีมกันแดดแบบสเปรย์และแบบฝุ่น

ครีมกันแดดเคมี (Chemical Sunscreens)

ครีมกันแดดเคมีจะซึมเข้าสู่ผิวอย่างล้ำลึก ครีมกันแดดเคมี สามารถดูดซับรังสียูวี และเปลี่ยนเป็นความร้อน จากนั้นจึงปล่อยความร้อนออกจากผิวหนัง เนื่องจากรังสี UV ต้องทะลุผ่านผิวหนังเพื่อเข้าถึงสารเคมีเหล่านี้ ครีมกันแดดเคมี ไม่สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ทั้งหมด ซึ่งยังคงก่อให้เกิดความเสียหายต่อชั้นลึกของผิวหนัง ครีมกันแดดเคมีต้องใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก่อนที่จะได้ผลอย่างเต็มที่ นอกจากนี้หากสัมผัสแสงโดยตรงจะทำให้สารเคมีถูกใช้หมดเร็วขึ้น ดังนั้นจะต้องใช้บ่อยขึ้นเมื่อคุณอยู่ในแสงแดดโดยตรง ลักษณะการปล่อยความร้อนของครีมกันแดดเคมีอาจเป็นปัญหาสำหรับผิวบอบบาง และผิวแพ้ง่าย (6)

    • ข้อดี : เกลี่ยง่ายและหาซื้อได้ง่ายกว่าครีมกันแดดแบบมิเนอรัล
    • จุดด้อย : ไม่สามารถกันแสงยูวีได้ทั้งหมด เมื่อใช้งานเราจะยังคงได้รับรังสี UVA บางส่วน และต้องรอเวลาเพื่อให้ครีมกันแดดมีประสิทธิภาพ หากผู้ใช้งานมีสิวสามารถทำให้สิวเห่อรุนแรงขึ้นได้

รูปแบบของครีมกันแดด

1. ครีมกันแดดแบบครีม

หากคุณมีผิวแห้งคุณอาจชอบครีมกันแดดแบบเนื้อครีม ครีมกันแดดนี้ถูกออกแบบสำหรับผิวหน้า บางยี่ห้อสามารถปรับผิวหน้าให้กระจ่างใสได้ แต่ครีมกันแดดชนิดนี้ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีผิวคล้ำเพราะเมื่อทาลงบนผิวหน้า ผิวหน้าอาจจะลอยและเป็นคราบได้

ครีมกันแดดแบบครีม

2. ครีมกันแดดแบบโลชั่น

ครีมกันแดดเนื้อโลชั่นหาซื้อได้ง่ายมาก และมักเป็นที่ต้องการสำหรับการใช้งานบริเวณร่างกาย โลชั่นมักจะมีเนื้อสัมผัสที่บางเบากว่าและมีความมันน้อยกว่าครีม ครีมกันแดดแบบโลชั่นนั้นพกพาง่ายมีให้เลือกให้ใช้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับทุกสภาพผิว ส่วนครีมกันแดดเนื้อน้ำนมนั้นถูกออกแบบมาใช้กับผิวหน้าโดยเฉพาะ เนื้อสัมผัสจะเกลี่ยได้ง่ายมากเหมาะสำหรับผิวบอบบางและแพ้ง่าย

3. ครีมกันแดดแบบเจล

ครีมกันแดดเนื้อเจลทำงานได้ดีที่สุดในบริเวณที่มีขน เช่น หนังศีรษะ ขาหรือหน้าอก ครีมกันแดดแบบเจลจะซึมเร็ว ซึมไว ไม่ทิ้งความเหนียวเหนอะหนะเอาไว้ แต่ข้อเสียคือหาซื้อยากมักจะมีขายที่ต่างประเทศมากกว่า

4. ครีมกันแดดแบบสเปรย์

ครีมกันแดดแบบสเปรย์ใช้กับเด็กได้ง่าย ครีมกันแดดแบบนี้จะต้องฉีดพ่นให้ทั่วร่างกาย สามารถกันแดดได้ดีแต่ข้อเสียคือเปลืองมากและมีราคาแพง และเพื่อป้องกันการสูดดมผลิตภัณฑ์อย่าฉีดพ่นใกล้ใบหน้าหรือปาก อีกทั้งควรตรวจสอบทิศทางของลมก่อนฉีดพ่น

ครีมกันแดดแบบสเปรย์ ใช้งานง่าย สะดวก แต่ราคามักจะแพงว่าแบบครีม

วิธีเลือกซื้อครีมกันแดดที่ดีที่สุด

1. เลือกครีมกันแดดที่มี การป้องกันแบบ “สเปกตรัมกว้าง” ครีมกันแดดที่มีป้ายกำกับนี้สามารถป้องกันทั้งรังสี UVA และ UVB ได้ ปกติแล้วรังสี UVB เป็นสาเหตุหลักของการถูกแดดเผาและทำให้ผิวเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้รังสี UVA ยังมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และริ้วรอยก่อนวัยอีกด้วย ดังนั้นหากคุณเลือกครีมกันแดดแบบที่มีป้ายกำกับว่า “สเปกตรัมกว้าง (Broad Spectrum)” จะทำให้สามารถป้องกันแสงแดดได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง (7)

2. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าครีมกันแดดของคุณมีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) 30 ขึ้นไป หมายเลข SPF คือระดับการป้องกันที่ครีมกันแดดมีให้กับรังสี UVB ค่า SPF ที่สูงขึ้นหมายถึงการปกป้องที่มากขึ้น ปกติแล้วครีมกันแดด SPF 15 สามารถกรองรังสี UVB ได้ประมาณ 93% ในขณะที่ครีมกันแดด SPF 30 สามารถกรองยูวีได้ประมาณ 97% ครีมกันแดด SPF 50 สามารถกรองยูวีได้ประมาณประมาณ 98% และ SPF 100 สามารถกรองยูวีได้ประมาณประมาณ 99% ตามที่คุณเห็นไม่มีครีมกันแดดที่สามารถปกป้องคุณจากแสงแดดได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อซื้อครีมกันแดดให้มองหาครีมกันแดดที่มี SPF อย่างน้อย 30

เฉพาะครีมกันแดด Broad Spectrum ที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไปเท่านั้น ที่สามารถอ้างว่าลดความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังและริ้วรอยก่อนวัยได้ หากใช้ตามมาตรการป้องกันแสงแดดอื่น ๆ ครีมกันแดดแบบ Non-Broad Spectrum และครีมกันแดดแบบ Broad Spectrum ที่มีค่า SPF ระหว่าง 2 ถึง 14 จะสามารถอ้างว่าช่วยป้องกันผิวไหม้ได้เท่านั้น (5)

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าครีมกันแดดของคุณมีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) 30 ขึ้นไป

3. สำรวจค่า PA คุณเคยสังเกตเห็นค่า PA +++ ในครีมกันแดดพร้อมกับระดับ SPF หรือไม่? บางคนอาจจะละเลยในขณะที่บางคนสับสนเพราะ SPF หมายถึงระดับการป้องกันจากรังสี UVB และไม่รู้ว่า PA คืออะไร เราขอเฉลยว่า PA คือค่าแสดงระดับการป้องกันจากรังสี UVA PA หมายถึงระดับการป้องกันของรังสี UVA ซึ่งใช้ในการวัดค่า SPF ของครีมกันแดด ค่า PA จะขึ้นอยู่กับการอ่านค่าปฏิกิริยา Persistent Pigment Darkening (PPD) เกรดการป้องกันของครีมกันแดดมักจะอยู่ในระดับ PA +, PA ++, PA +++ ยิ่งมีเครื่องหมายบวกมากก็จะยิ่งมีการป้องกันรังสียูวีเอมากขึ้น

    • ครีมกันแดดที่มีฉลาก PA + หมายถึง ครีมกันแดดสามารถให้การป้องกันรังสี UVA โดยมีปัจจัยของ Persistent Pigment Darkening (PPD) อยู่ระหว่าง 2 ถึง 4 สามารถป้องกันรังสี UV ได้ปานกลาง
    • ครีมกันแดดที่มีฉลาก PA ++ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ในระดับปานกลางโดยมีค่า PPD อยู่ระหว่าง 4 ถึง 8 เหมาะสำหรับผิวธรรมดาที่สัมผัสกับรังสี UV ปานกลาง
    • ครีมกันแดดที่มีฉลาก PA +++ ออกแบบมาสำหรับผิวธรรมดาที่สัมผัสกับรังสี UV ที่แรงมาก ป้องกันรังสี UVA ได้ดีโดยมีค่า PPD มากกว่า 8 เป็นเกรดสูงสุดของการป้องกัน UVA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

4. กันน้ำ กันเหงื่อ ปกติแล้วไม่มีครีมกันแดดชนิดที่สามารถกันน้ำหรือกันเหงื่อได้อย่างถาวร หากฉลากด้านหน้าของผลิตภัณฑ์อ้างว่าสามารถกันน้ำได้จะต้องระบุว่าเป็นเวลา 40 นาทีหรือ 80 นาที ขณะว่ายน้ำหรือมีเหงื่อออก เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดควรทาครีมกันแดดซ้ำอย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมงและบ่อยขึ้นหากคุณกำลังว่ายน้ำหรือมีเหงื่อออก ครีมกันแดดมักจะหลุดออกไปเมื่อคุณเช็ดตัว

วิธีใช้ครีมกันแดดอย่างถูกต้อง

  • ทาครีมกันแดดให้ทั่วบริเวณที่โดนแสงแดดเพื่อให้การป้องกันอย่างทั่วถึง คนที่ทาครีมกันแดดครั้งแรกมักจะใช้ในปริมาณที่ไม่เพียงพอ คุณจะต้องใช้ครีมกันแดดอย่างน้อย 6 ช้อนชา เพื่อปกปิดบริเวณที่โดนแสงแดดของร่างกาย
  • ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีเพื่อให้ครีมกันแดดซึมเข้าสู่ผิวหนังและการรอให้ครีมกันแดดซึมเข้าผิวนั้นจะทำให้สามารถถูและล้างออกได้ง่าย ดังนั้นควรทาครีมกันแดดอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนออกแดด
  • ทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหากอยู่กลางแดดนานเกินหนึ่งชั่วโมงในระหว่างวัน นอกจากนี้ควรทาครีมกันแดดซ้ำทันทีหลังจากว่ายน้ำหรือเหงื่อออกมากเกินไป แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะบอกว่ากันน้ำคุณก็จะต้องทาซ้ำเสมอ
  • โปรดรู้ไว้ว่ายากันยุงจะลดค่า SPF ของครีมกันแดดดังนั้นเมื่อใช้ร่วมกัน ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงขึ้นและทาซ้ำบ่อยขึ้น หรือใช้เครื่องดักยุงไฟฟ้าแทนการใช้ยากันยุง

อ้างอิง 

(1) UV Radiation

(2) UV Radiation and the Skin

(3) Ultraviolet (UV) Radiation

(4) Best sunscreen: Understand sunscreen options

(5) Questions and Answers: FDA announces new requirements for over-the-counter (OTC) sunscreen products marketed in the U.S.

(6) Sunscreens

(7) Sunscreen: How to Help Protect Your Skin from the Sun