วิธี วางแผน เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์

เมื่อคิดจะมีลูกก็อย่างรอช้านะคะ เพราะบางคู่รักที่มีลูกยาก ก็ใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ ดังนั้นเริ่มที่จะดูแลสุขภาพตัวเองและสามี เพื่อที่จะได้มีลูกน้อยที่สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ (4) สิ่งสำคัญคือ การวางแผนเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ เพราะการจะมีลูกน้อยเข้ามาในชีวิตเรานั้น คือการเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างของชีวิตเรา การได้คิดร่วมกัน ได้คุยกันของคู่รักเกี่ยวกับการวางแผนร่วมในการมีลูก ก็จะทำให้เราได้เตรียมตัวคิดอะไรหลายอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของเราและสามีในอนาคต การงาน บ้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น

แต่เราก็ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถที่จะวางแผนทุกอย่าง และบ่อยครั้งไม่ว่าจะวางแผนเป็นอย่างดี ก็จะมีบ้างที่ไม่เป็นไปตามนั้นสะทุกอย่าง การวางแผน เป็นกระบวนการของการพิจารณาตัดสินใจล่วงหน้าว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร ทำเมื่อไหร่ ทำที่ไหน ทำกับใคร และผลที่ออกมาจะเป็นไปในทิศทางไหนได้บ้าง ดังนั้น การวางแผนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ตัวเราก็ต้องมีความยืดยุ่น และเผื่อใจยอมรับหากไม่เป็นไปตามแผน แต่สำหรับบางคู่รักที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ก็ใช่ว่าจะไม่ทันการนะคะ เราสามารถที่จะเริ่มวางแผนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้ ณ ตอนนี้ เพราะอย่างที่บอกไว้เบื้องต้นว่า การมีลูกจะเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเรา ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่ ก่อนที่ลูกจะลืมตาโลกนี้ เราก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่คนเป็นแม่เป็นพ่อจะทำได้ค่ะ เรามาดูกันค่ะว่าเราสามารถวางแผนอะไรล่วงหน้าได้บ้าง

วิธี การวางแผน และเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนตั้งครรภ์

1. พูดคุย ปรึกษากันระหว่างคู่สามีภรรยา

การจะมีลูกน้อยเข้ามาในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง คุณและสามีควรตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบถึงเหตุการณ์ ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่าทั้งคู่พร้อมที่จะรับมือแล้วหรือยัง ในส่วนของคำตอบไม่มีผิดไม่มีถูกนะคะ แต่คำตอบจะช่วยให้คุณทั้งคู่ตัดสินใจในการมีลูก

ตั้งคำถาม ข้อที่ 1 : ทำไมถึงอยากมีลูก ?

คำตอบ อาจจะเป็น

  • ความกดดันจากครอบครัว หลังจากแต่งงานแล้ว ปู่ ย่า ตา ยาย ก็อยากอุ้มลูกอุ้มหลานแล้ว
  • อายุ อย่างที่เรารู้กันดีว่าหากอายุมากขึ้น โอกาสจะมีบุตรก็ยากขึ้นด้วย
  • แรงกดดันจากคนรอบข้าง เมื่อแต่งงานแล้ว บ่อยครั้งก็จะเจอกับคำถามที่ เมื่อไหร่จะมีลูก มีคนมีแชร์ประสบการณ์ดีๆ ของการมีลูก บางครั้งก็ทำให้เราตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง

ตั้งคำถาม ข้อที่ 2 : มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน ? ทั้งคู่พร้อมหรือยังกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่จะมาพร้อมกับลูกน้อย

  • เปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์
  • ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
  • ความเปลี่ยนแปลงทางการเงิน
  • สถานที่พักอาศัย

ตั้งคำถาม ข้อที่ 3 : ความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา มีไหม? หากครอบครัวไหนมีเชื้อชาติ ศาสนา ที่แตกต่างกัน จะมีแนวทางเลี้ยงดูลูกอย่างไร

ตั้งคำถาม ข้อที่ 4: ทั้งคู่ชอบเด็กหรือไม่ ?

ตั้งคำถาม ข้อที่ 5: ความสามารถในการเลี้ยงดูลูก ของทั้งคู่เป็นอย่างไร? ถ้าใครคนใดคนนึง ไม่อยู่ในโลกใบนี้แล้ว คนที่เหลืออยู่จะสามารถดูแลลูกด้วยตัวคนเดียวได้หรือไม่

เมื่อได้คำตอบแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่คุณควรรู้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ของคุณและคนรัก มีความแข็งแรง เข้าอกเข้าใจ เชื่อใจ และเคารพซึ่งกันและกันมากแค่ไหน แล้วตัดสินใจร่วมกันว่าจะวางแผนครอบครัวเราไปในรูปแบบไหน

2. ตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ (2)

ก่อนที่จะตั้งครรภ์ ก็รู้ว่าร่างกายทั้งคู่พร้อมแล้วหรือยัง จึงควรตรวจสุขภาพ เพราะบางท่านดูภายนอกอาจจะแข็งแรงดี แต่ระบบภายในร่างกายเราก็ไม่สามารถยั่งรู้ได้ว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น การตรวจสุขภาพ พูดคุยสอบถามคุณหมอ ก็จะช่วยให้เรารู้ว่าร่างกายเราเป็นอย่างไรบ้าง เพราะมีบางโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม เช่น เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ลูคีเมีย เป็นต้น หากพ่อแม่ หรือครอบครัวทั้งสองฝ่าย มีโรคเหล่านี้แฝงอยู่ก็อาจมีผลต่อลูกน้อยได้ และบางท่านอาจจะมีปัญหาสุขภาพมาก่อน มีการทานยาหรืออาหารเสริมบางตัว ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือหากคุณแม่เคยมีปัญหาตั้งครรภ์มาก่อน ก็ควรพูดคุยปรึกษากับคุณหมอก่อน

3. ฝึกดูวันไข่ตก

ไม่ว่าจะโดยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ทุก ๆ เช้า หลังตื่นนอน (Basal body temperature method) นับวันไข่ตก หรือการสังเกตมูกที่ปากมดลูก การคำนวณวันไข่ตก ถือว่าเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นให้กับเราเลยนะคะ ร่างกายผู้หญิงจะมีไข่ตกได้เพียงเดือนละครั้ง และไข่ก็มีอายุเพียงประมาณ 24 ชั่วโมงเท่านั้น หากเราทราบวันคร่าวๆ คู่รักก็จะได้เตรียมตัวได้ทันท่วงที

4. ทานสารเสริมกรดโฟลิค (1)(2)

กรดโฟลิคเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้หญิงที่จะตั้งครรภ์ทาน รวมถึงตัวคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้ว โดยร่างกายจะมีความต้องการกรดโฟลิคอยู่ที่ 800 ไมโครกรัมต่อวัน หรือมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ถึง 400 ไมโครกรัม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรรับประทานไม่ให้เกิน 1 มิลลิกรัมต่อวันนะคะ เพราะหากร่างกายได้รับกรดโฟลิคมากเกินไป ก็จะไปยับยั้งการทำงานของวิตามินบี 12 ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เป็นโรคโลหิตจางได้ค่ะ

แต่คุณหมอก็อาจจะให้คุณแม่บางท่านทานในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติ  ในกรณีดังต่อไปนี้ :

  • คุณพ่อหรือคุณแม่มีประวัติความบกพร่องของท่อประสาท (Neural tube defect-NTD)
  • คุณแม่เคยตั้งครรภ์แล้วมีผลกระทบจากความบกพร่องของท่อประสาท (Neural tube defect-NTD)
  • ครอบครัวคุณพ่อหรือคุณแม่มีประวัติความบกพร่องของท่อประสาท (Neural tube defect-NTD)
  • คุณแม่เป็นโรคเบาหวาน
  • คุณแม่ทานยาต้านอาการชัก (Antiepileptic Drugs)

ตอนนี้เพื่อนๆ คงอยากรู้กันแล้วใช่มั๊ยคะ ว่าเจ้ากรดโฟลิค (Folic Acid) ทำไมถึงสำคัญ ?

ความสำคัญของ กรดโฟลิค

กรดโฟลิค หรือเรียกอีกอย่างว่า “โฟแลต” คือวิตามินชนิดหนึ่งที่พบได้ในอาหารตามธรรมชาติ กรดโฟลิคนั้นมีส่วนช่วยในการสร้างตัวอ่อน ช่วยป้องกันและลดความผิดปกติของระบบประสาท ทั้งภาวะไม่มีเนื้อสมอง ภาวะไขสันหลังไม่ปิดจากการขาดโฟลิค นอกจากนี้ยังช่วยซ่อมแซมพันธุกรรม ควบคุมการสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นในการแบ่งเซลล์ ไปจนถึงการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกของลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย แต่หากคุณแม่ท่านใดที่ตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะว่าจะช้าเกินไปหรือไม่ที่จะทานกรดโฟลิค ตอบได้เลยค่ะว่า ไม่ช้าไปค่ะ เริ่มทานได้เลยก่อนที่ผ่าน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

5. ลด ละ เลิกพฤติกรรมที่เสี่ยงเพื่อลูกน้อย (1)(2)

การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตั้งครรภ์ยาก อาจจะส่งผลกับการคลอดก่อนกำหนด, เด็กมีน้ำหนักตัวที่น้อย, เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก และเด็กทารกอาจจะมีอาการหายใจผิดปกติใน 6 เดือนแรกเกิด

หากท่านใดต้องการที่ปรึกษาการเลิกบุหรี่ ก็สามารถติดต่อศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ โดยติดต่อทางช่องทาง 1600 สายด่วนเลิกบุหรี่ หรืออาจจะหาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ของ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ

สำหรับคนที่สูบบุหรี่จะให้เลิกไปเลยก็อาจจะยากไปสำหรับบางท่าน แต่หากเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปทีละนิด ก็อาจจะทำง่ายขึ้น เป็นกำลังใจให้นะคะ

การดื่มแอลกอฮอล์

งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเตรียมตัวตั้งครรภ์

การดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตั้งครรภ์ยาก อาจจะก่อให้เด็กเกิดมาพิการ และพัฒนาการช้าได้ค่ะ เรามีศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์ (Alcohol Helpline Center) มาแนะนำเพื่อนๆคะ หากเพื่อนๆ ต้องการจะปรึกษา โดยติดต่อช่องทาง 1413 สายด่วยเลิกเหล้า หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของ ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์

คาเฟอีน (3)

ซึ่งพบในชา กาแฟ หรือในน้ำอัดลม และเรื่องดื่มชูกำลังบางประเภท ซึ่งสารคาเฟอีนมีผลทำให้มีบุตรยาก มีโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือเด็กอาจจะพิการแต่กำเนิด โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ไม่ควรดื่มสารคาเฟอีนเกินวันละ 200 มิลลิกรัมต่อวันช่วงกำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือหันไปดื่มกาแฟไม่มีคาเฟอีน (Decaf coffee)

6. ตรวจสอบ และควบคุมน้ำหนักตัว (1)

หากเพื่อนๆมีน้ำหนักตัวสูงกว่ามาตรฐาน ก็อาจจะมีผลก่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational diabetes), ลิ่มเลือดอุดตัน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก แต่หากท่านใดมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ก็อาจจะมีผลทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร หรือสารอาหารส่งไปเลี้ยงลูกไม่เพียงพอได้ค่ะ ดังนั้นควรออกกำลังกายที่พอเหมาะ ทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย

7. รับวัคซีน (1)

ฉีดวัคซีนให้พร้อม ก่อนเริ่มตั้งครรภ์

วัคซีนถือว่าเป็นสำคัญสำหรับคุณแม่ก่อนและกำลังตั้งครรภ์อยู่ด้วยเหมือนกันนะคะ เพราะการฉีดวัคซีน จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน สร้างความแข็งแรงให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิด โดยวัคซีนที่ควรฉีดก่อนการตั้งครรภ์ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใส เป็นต้น ซึ่งการฉีดวัคซีนบางชนิดอาจต้องรอถึง 6 เดือนจึงจะเริ่มพยายามมีบุตรได้

8. พบทันตแพทย์ (4)

ตรวจเช็คสุขภาพฟัน ก่อนตั้งครรภ์

นอกจากจะพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือนแล้ว หากวางแผนคิดจะมีลูก คุณจำเป็นต้องไปพบเพื่อตรวจเช็คสภาพและทำฟันอย่างละเอียด เนื่องจากจากการตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคเหงือก ส่งผลถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือการคลอดก่อนกำหนดได้ เพราะฉะนั้น ในเมื่อตอนนี้ยังมีเวลา นัดทันตแพทย์ของคุณแล้วได้เลยค่ะ

9. วางแผนทางการเงิน

การเงินกับการตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากจริงๆค่ะ เพราะคุณจะต้องเริ่มเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มท้อง (หากท่านใดมีบุตรยาก ต้องพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เยอะขึ้นไปอีก)ไปจนถึงลูกคลอดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์, ค่าทำคลอด, ค่าเสื้อผ้าเด็ก (ซึ่งเด็กโตไวมาก), ค่าผ้าอ้อม, คาร์ซีท, รถเข็น, ขวดนม,อุปกรณ์เลี้ยงเด็กต่างๆ รวมไปถึงของเล่นเสริมพัฒนาการ ดังนั้นการวางแผนทางการเงินไว้ก่อนตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งที่ดี จะได้ไม่ก่อให้เกิดความกังวลใจ หรือใครที่ไม่ทันได้วางแผนการเงินก่อน แต่ตั้งครรภ์แล้ว ก็ยังไม่สายที่วางแผนเลยนะคะ

10. ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้กรณีคลอดบุตร

ตรวจสอบสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรจากบริษัทที่คุณพ่อ คุณแม่ทำงาน ว่ามีจะได้รับสิทธิอะไรบ้าง มีวันลาคลอดกี่วัน และนอกจากนั้นยังมีสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม (6) สำหรับคุณพ่อ-คุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 เมื่อส่งเงินสมทบครบ 5 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร จะสามารถฝากครรภ์และคลอดบุตรที่โรงพยาบาลใดก็ได้ที่สะดวก รวมถึงสามารถเบิกค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายได้ 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง (หากคุณพ่อ-คุณแม่เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นนะคะ) แถมในกรณีที่คุณแม่ป็นผู้ประกันตน จะมีสิทธิรับเงินทดแทนการหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วันด้วยค่ะ (ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท)

หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดได้ทำประกันชีวิตที่ครอบคลุมค่าคุ้มครองช่วงที่คลอด และหลังคลอด ก็จะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้เยอะทีเดียว เพราะหากว่าการคลอดครั้งนี้มีปัญหา ต้องใช้เงินรักษาหลายแสนบาท การทำประกันก็สามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ได้อีกด้วยค่ะ

11. ดูแลสุขภาพจิต (2)

สุขภาพจิตเป็นสภาวะทางจิตใจของบุคคล ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก ภาวะทางจิตใจมีการปรับเปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวของผู้นั้น ซึ่งในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สุขภาพจิตของคนเราจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแปลงตาม บางคนก็สามารถปรับตัวปรับใจกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี บางคนก็อาจะใช้เวลาในการปรับตัวช้ากว่าคนอื่น อาจจะมีอาการเศร้า กังวล หรือเครียดได้ในบางครั้ง แต่ก็ต้องมีวิธีกำจัดความรู้สึกให้หายไปให้ได้เร็ว เพราะอาจส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันของคุณได้

การตั้งครรภ์ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิตคุณ ไม่จะเป็นทางร่างกาย ทางฮอร์โมน และความรับผิดชอบที่จะมาพร้อมกับลูกน้อย ดังนั้น ถ้าคุณรู้ตัวว่าตัวเองมีความกังวล ควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์และรักษาให้หายเสียก่อนที่จะพยายามตั้งครรภ์ เพราะสุขภาพจิตถือว่าสำคัญมากพอ ๆ กับสุขภาพกายของคุณนะคะ เรามาดูกันคะว่ามีวิธีอะไรบ้างที่จะช่วยลดความเครียด ความกังวลก่อนตั้งครรภ์ (5)

  • หาสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียด และพยายามทำให้ความเครียดลดลงในระยะเวลาอันสั้น เช่น เริ่มเก็บเงินออม เพื่อลดความเครียดทางการเงินลง, เริ่มพูดคุยแก้ไขปัญหากับคนรัก เป็นต้น
  • ทำชีวิตให้เป็นเรื่องง่าย
  • ลำดับความสำคัญ เริ่มฝึกการปฏิเสธคนอื่นให้เป็น ตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญกับชีวิต อะไรสามารถรอได้
  • ขอความช่วยเหลือ หากต้อการความช่วยเหลือจากคนรัก ครอบครัว หรือเพื่อน
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยให้ลดความตึงเครียด และทำให้อารมณ์ดีขึ้น
  • การทำสมาธิ การกำหนดลมหายใจเข้า ออก เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึง และทำให้ระดับฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเครียดลดล
  • เขียนบันทึก การเขียนความคิด สามารถช่วยให้ลดความวิตกกังวล
  • สร้างบรรยากาศอันแสนสงบ ใช้น้ำมันอโรมาเทอราพี, ฟังเพลงเบาๆ เปิดไฟสลัวๆ จะช่วยให้รู้สึกสงบมากขึ้น
  • นอนหลับให้เพียงพอ

 

อย่างเป็นไงบ้างคะสำหรับข้อมูล มันอาจจะมีการหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องวางแผน เตรียมตัวสำหรับ parents to be แต่ไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นใช่มั๊ยคะ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของลูกน้อย ผู้เป็นพ่อเป็นแม่พร้อมที่จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถของพ่อแม่จะทำได้ อย่าลืมนะคะว่าการวางแผน คือการคิดก่อนลงมือทำ หากสิ่งที่วางแผนไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ เราก็ต้องยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ของคุณด้วยนะคะ สุดท้ายแล้ว ขอให้ทุกคนโชคดีในการตั้งครรภ์ลูกน้อยนะคะ เป็นกำลังให้ค่ะ


อ้างอิง :

(1) Planning your pregnancy

(2) Planning for Pregnancy

(3) Caffeine and pregnancy

(4) Teeth and gums in pregnancy

(5) Before you get pregnant

(6) “คลอดบุตรเราช่วยจ่าย” – สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร จาก สำนักงานประกันสังคม