อาหารเป็นสิ่งที่เราต้องทานเป็นประจำ เพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรงและมีสุขภาพที่ดี การทานอาหารจะช่วยเพิ่มสารอาหารและโปรตีนที่สำคัญต่อร่างกาย แต่แน่นอนค่ะอาหารบางประเภทไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะในบางคนอาจจะมีอาการที่เรียกว่า “อาการแพ้อาหาร” ซึ่งอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย บางคนก็อาจจะแพ้อาหารมาตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้ อาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อยได้แก่ แพ้นม, แพ้ถั่ว และแพ้อาหารทะเล หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าอาหารเหล่านี้เป็นอาการพื้นฐาน หากมีอาการแพ้ก็แค่ทานยาแก้แพ้แล้วจบ แต่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นค่ะ เพราะอาการแพ้อาจจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจจะถึงแก่ชีวิตเลยก็ว่าได้ วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับอาการแพ้อาหารแต่ละประเภทค่ะ หากพร้อมแล้วก็ไปเช็กกันเลยว่าอาการแพ้อาหารมีแบบใดบ้าง
อาการแพ้อาหารคืออะไร?
อาการแพ้อาหารเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองอย่างผิดปกติกับสิ่งที่คุณกินหรือดื่มเข้าไปในร่างกาย จากการวิจัยและการศึกษาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อาหาร (FARE) พบว่าชาวอเมริกัน 15 ล้านคนมีอาการแพ้อาหาร ส่วนช่วงวัยที่มีอาการแพ้มากที่สุดคือช่วงวัย “เด็ก” ตามการศึกษาพบว่าเด็กประมาณ 1 ในทุก ๆ 13 คนในสหรัฐอเมริกามีอาการแพ้อาหาร (1) การแพ้อาหารอาจส่งผลต่อผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจหรือระบบหัวใจและหลอดเลือด อาหารหลายประเภทอาจเป็นสารก่อภูมิแพ้ได้ แต่อาหารบางชนิดมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่าอาหารอื่น ๆ ซึ่งสภาคองเกรสผ่านพระราชบัญญัติการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้ และการคุ้มครองผู้บริโภคปี 2004 (FALCPA) กฎหมายฉบับนี้ ระบุว่าอาหารแปดชนิดเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอาหารที่สำคัญ ได้แก่ (2),(3)
- นมวัว
- ไข่
- ถั่ว
- ปลา
- หอย
- ถั่วจากไม้ยืนต้น เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์หรือวอลนัท
- ข้าวสาลี
- ถั่วเหลือง
อาการแพ้อาหารทั่วไป
อาการของการแพ้อาหาร อาจมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรง อาการแพ้อาหารอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วหลายชั่วโมง ปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันของคนเราอาจตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในจำนวนเล็กน้อย ดังนั้นการแพ้อาหารอาจเป็นอันตรายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับผลกระทบที่บริเวณทางเดินหายใจ เนื่องจากการแพ้อาหารอาจส่งผลต่อการหายใจ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคหอบหืดจึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรง (2) อาการเล็กน้อยที่เกี่ยวข้องกับการแพ้อาหารมีดังนี้
- จาม
- อาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล
- คันตาน้ำตาไหล
- อาการบวม
- เป็นผื่น
- ปวดท้อง
- ท้องร่วง
ส่วนอาการของอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรงเรียกว่าอาการแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ต่ออาหาร ได้แก่ (4)
- ผิวหนัง – มีอาการคันลมพิษ แดงบวม
- จมูก – จาม คัดจมูก และน้ำมูกไหล
- ปาก – มีอาการคันบวมที่ริมฝีปาก หรือลิ้น
- คอ – คัน, แน่น, กลืนลำบาก, บวมหลังคอ
- หน้าอก – หายใจถี่, ไอ, หายใจดังเสียงฮืด ๆ, เจ็บหน้าอกหรือแน่น
- หัวใจ – ชีพจรอ่อนแอ, หมดแรง, ช็อก
- ระบบทางเดินอาหาร – อาเจียน ท้องร่วง ตะคริว
- ระบบประสาท – อาการวิงเวียนศีรษะ หรือเป็นลม
อาการแพ้นม
ปกติแล้วมีการศึกษาอาการแพ้นมมากกว่าอาการแพ้อาหารอื่น ๆ การแพ้นมเกิดจากปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อเวย์ เคซีนหรือโปรตีนที่พบในนมวัว ซึ่งอาการแพ้นมนี้ก็ไม่เหมือนกับการแพ้แลคโตสทั่วไป เด็กที่แพ้นมมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการแพ้อาหารอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แพ้ไข่ ถั่วเหลือง และถั่วลิสง อีกทั้งเด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการแพ้นมก็ยังสามารถพัฒนาเป็นโรคอื่น ๆ ในตระกูลโรคภูมิแพ้ได้อีกด้วย เช่น โรคหอบหืด, โรคจมูกอักเสบ, ภูมิแพ้ หรือโรคเรื้อนกวาง (5)
อาการแพ้ไข่
อาการแพ้ไข่มักเกิดในเด็ก และจะหายจากอาการแพ้ตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างไรก็ตามบางคนอาจยังคงแพ้ไข่ไปตลอดชีวิต อาการแพ้ไข่อาจจะเกิดจากอาการแพ้โปรตีนบางชนิดในไข่แดงหรือไข่ขาว คนที่แพ้ไข่แดงอาจจะไม่แพ้ไข่ขาวและในทางกลับกันบางคนอาจจะแพ้ทั้งไข่ขาวและไข่แดงเลยก็ได้ค่ะ (6)
อาการแพ้ถั่วลิสง
เด็กที่แพ้ถั่วลิสงมักจะมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ดังนั้นการแพ้ถั่วลิสงจึงมักเป็นความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้การแพ้ถั่วลิสงจึงมีความร้ายแรงมาก การสัมผัสหรือทานถั่วลิสงโดยบังเอิญอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่ง แม้ว่าอาการนี้อาจจะพบได้น้อยแต่การแพ้ถั่วลิสงอาจส่งผลให้เกิดภาวะภูมิแพ้ได้ ซึ่งอาการแพ้ที่เกิดเป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงที่สามารถทำให้เกิดการหายใจติดขัดหรือทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ ซึ่งอาการนี้อาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ทันทีโดยการฉีดอะดรีนาลีน (EpiPen) หลังจากนั้นคุณควรเฝ้าดูอาการเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังการฉีดยาเพื่อให้แน่ใจว่าอาการแพ้จะไม่กลับมา (7)
อาการแพ้ที่พบได้บ่อยอื่น ๆ
ปกติแล้วไม่ค่อยมีใครรู้ว่าอาการแพ้ถั่วเหลืองและข้าวสาลีก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน และสามารถเกิดขึ้นได้มากกว่าอาการแพ้ที่กล่าวถึงข้างต้น ในทำนองเดียวกันอาการแพ้ปลา แพ้หอย และแพ้ถั่วจากไม้ยืนต้นก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน ดังนั้นในการทดสอบอาการแพ้คุณควรทำการปรึกษาแพทย์ค่ะ
การวินิจฉัยการแพ้อาหาร
วิธีการวินิจฉัยการแพ้อาหารมักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากอาการของคุณไม่รุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้จดบันทึกอาหาร เพื่อบันทึกอาหารทั้งหมดที่คุณกินหรือดื่มเพื่อระบุตัวอาหารที่คุณแพ้ อีกวิธีหนึ่งในการวินิจฉัยอาการแพ้อาหารที่ไม่รุนแรงคือการเอาอาหารบางชนิดออกจากอาหารแล้วค่อย ๆ แนะนำให้ทานใหม่เพื่อดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงมากขึ้นการตรวจผิวหนังหรือเลือดสามารถระบุการแพ้ไข่ นม ถั่ว และหอยได้
ตัวเลือกการรักษา
เช่นเดียวกับโรคภูมิแพ้ประเภทอื่น ๆ การหลีกเลี่ยงมักเป็นยาที่ดีที่สุดในการรักษาการภูมิแพ้ ทุกคนที่แพ้อาหารควรระมัดระวังในการซื้ออาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านอาหารเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีร่องรอยของสารก่อภูมิแพ้ อาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใด ๆ เลยหรืออาจจะทานยาต้านฮีสตามีนที่ขายตามเคาน์เตอร์เพราะยานี้อาจช่วยแก้อาการแพ้ได้ สำหรับอาการแพ้ที่รุนแรงขึ้นแพทย์อาจสั่งจ่ายยาสเตียรอยด์ การใช้ยาสเตียรอยด์อาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรง และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นประจำ
อ้างอิง
(1) Food Allergy Research and Education (FARE)
(3) Food Allergen Labeling and Consumer Protection Act of 2004 (FALCPA)