สวัสดีค่ะสาวกคุณพ่อ คุณแม่แพนด้าทุกคน ช่วงกำลังตั้งครรภ์ มีเพื่อนๆ หลายคนบอกว่าตอนนี้ให้นอนตุนไว้ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้เลยนะ พอหลังคลอดแล้วจะไม่ได้นอน ไอตัวเราเองก็คิดว่าอะไรมันจะขนาดนั้น เด็กแบเบาะเลี้ยงง่ายจะตายไป ในละครหลังข่าวก็เห็นแกว่งเปลไปมา เด็กน้อยก็หลับปุ๋ยแล้ว และแล้ววันที่ตั้งตารอลูกน้อยก็มาถึง ภาพ flashback ที่เพื่อนบอกว่าให้นอนตุนไว้ให้เยอะๆ ก็กลับเค้ามาในหัว ถึงบางอ้อเลยค่ะ ในแต่ละวันนอนได้น้อยมาก ไหนจะต้องปั๊มนม ไหนจะงานบ้าน ไหนลูกร้องอีก มือแม่ก็พันเป็นปลาหมึก ส่วนใต้ตาก็ดำเป็นแพนด้า ต้องบอกไว้ตรงนี้เลยนะคะว่าครอบครัวเราคือครอบครัวเดี่ยวอยู่กัน พ่อ แม่ ลูก ไม่ได้มีคนช่วยเลี้ยง ทุกคนก็บอกเด็กแรกเกิดก็เป็นแบบนี้แหละ ลูกตื่นบ่อย และเค้าก็ชอบอยู่ในอ้อมแขนพ่อแม่สะเหลือเกิน ปล่อยลงเตียงเมื่อไหร่ก็ร้องทันที ทางดิฉันและสามี ก็พูดคุย ปรึกษาหารือ หัวข้อวาระว่าด้วยเรื่องการนอนของลูก เพราะถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จากแพนด้า คงกลายเป็นซอมบี้แน่ๆ
วิธี ฝึกลูกนอนยาว
โดยการฝึกลูกนอน (Sleep training) มีหลายวิธีเสียเหลือเกิน แต่เราจะแบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ(1) คือ
1. No-cry method
วิธีนี้ลูกไม่เสียน้ำตาในการนอน คือคุณก็ต้องกล่อมลูกน้อยให้นอนอาจจะในอ้อมแขนหรืออะไรก็ตามแต่ หรืออาจจะหลับคาขวดนมหรือเต้าคุณแม่ เมื่อลูกน้อยร้องก็ไปกอดและอุ้ม และกล่อมอีกจนกว่าจะหลับ แล้วจึงวางลงเตียง
2. Cry it out method (8)
วิธีนี้คือ เมื่อถึงเวลานอน ก็วางลูกนอนลงบนเตียงลูก แล้วหากลูกร้องก็ปล่อยให้ลูกร้องจนหลับไป โดยที่เราจะไม่เข้าไปในไปห้องอีกเลย ซึ่งเป็นการฝึกให้ลูกนอนด้วยตัวเอง และจะมีผลต่อให้ลูกนอนหลับยาวขึ้น
ซึ่งทางดิฉันและสามีก็เห็นตรงกันว่า ทั้งสองแนวทางนี้มันดูช่างมีความแตกต่างกันคนละขั้วกันเลย เพราะตลอดเวลาสามเดือนที่ผ่านมานั้น เราใช้วิธี No-cry แล้วเราทั้งคู่ก็เหนื่อย เพลีย เนื่องจากนอนหลับไม่เพียงพอ ส่วน cry it out ก็แนวทางฮาร์ดคอร์ไปสำหรับคู่เรา เราก็มาเจอกับอีกหนึ่งแนวทางที่ดูจะเหมาะสมกับครอบครัวของเรา และดูเป็นทางสายกลาง ในความคิดของเรา ซึ่งแนวทางนี้คือ Controlled crying method (2) คือการตั้งเวลา และเข้าไปดูลูกเป็นระยะๆ ตามเวลาที่กำหนดไว้ (รายละเอียดอยู่ในเนื้อหาข้างล่าง) และจากการค้นคว้าข้อมูล เราก็มาเจอผลการวิจัยมากมาย ว่าวิธีนี้ไม่มีผลต่อพัฒนาการของลูก และความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนของลูกให้ดีขึ้นอีกด้วย และทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุขขึ้น แบบนี้ก็เรียกได้ว่า Happy home, happy child, happy family. (3)(4)(5)
สิ่งสำคัญที่ควรตระหนัก ในการฝึกลูกนอนยาว
- วิธีนี้เหมาะกับลูกน้อยควรที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป แต่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านก็แนะนำให้รอจนกว่าลูกจะ 6 เดือน เนื่องจากเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะเสี่ยงกับอาการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก เมืองไทยเรียกว่าโรคไหลตายในทารก SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ฝึกลูกในขณะที่เป็นเด็กแรกเกิด จะง่ายกว่าฝึกเมื่อเป็นเด็กวัยเตาะแตะ (1ขวบขึ้นไป) เนื่องจากลูกรู้เรื่องมากขึ้นแล้ว และไม่ยอมให้ความร่วมมือแบบง่ายๆ และอาจจะใช้เวลานานขึ้นเพื่อให้สำเร็จ เพราะสำหรับตัวดิฉันชั้นเริ่มใช้วิธีนี้ ตอนลูกประมาณ 3 เดือนค่ะ
- เราต้องมั่นใจว่าเราให้นมลูกเพียงพอแล้ว ลูกไม่หิวแน่นอน ก่อนที่จะวางลูกลงนอน สำหรับตัวดิฉัน จะให้ลูกดื่มนมเยอะกว่ามื้อปกติสักนิดนึง เพราะเราอยากให้เค้าอิ่มท้อง และพร้อมกับการนอนยาว
- ต้องมั่นใจว่าลูกร้องเพราะมีอาการไข้ หรืออยู่ในช่วงฟันกำลังจะงอก
แต่หากเพื่อนๆ มีความกังวล แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ดูนะคะ ว่าลักษณะของลูกเราเหมาะกับวิธีนี้หรือไม่
ก่อนจะเริ่มวิธีการ และมาเริ่มเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ที่ใช้ในวิธีนี้กันก่อนคะ
สิ่งของที่ต้องใช้ในการฝึกลูกนอนยาว
1. เตียงนอนลูก (6)
ไม่ว่าจะเป็นเตียงเด็ก (Cot) หรือการกั้นพื้นที่ให้ลูกนอน (Playpen) จะเป็นแบบไหนก็ตามแต่แล้วแต่ความเหมาะสมของครอบครัวเราค่ะ ใจความสำคัญคือเพื่อไม่ให้ลูกปีนออกมาได้ และต้องเป็นเตียงที่จะต้องมั่นใจได้ว่า มีโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทานสูง เมื่อลูกเขย่าเตียง ก็จะไม่หล่นออกนอกเตียงหรืออาจจะมีอุบัติเหตุอื่น ๆ ได้
2. Baby Monitor หรือ กล้องวงจรปิด
อันนี้สำคัญมาก เพราะตอนใช้วิธีนี้ เราต้องออกมานอกห้องและหากลูกเราร้องๆ เราเองก็ไม่สบายใจถูกมั๊ยคะ ไม่รู้ว่าร้องเพราะกำลังปรับตัวกับแนวทางใหม่นี้ หรือเกิดอุบัติเหตุอะไรหรือเปล่า เจ้า baby monitor หรือกล้องวงจรปิดที่สามารถดูผ่านมือถือได้นี่เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยคลายความกังวลของเราได้เยอะเลยค่ะ แต่ถ้าใครมีกล้อง IP Cam หรือกล้องวงจรปิด และอยากลดค่าใช้จ่าย ก็ใช้แทนกันได้นะคะ เพราะตอนนี้ก็มีกล้องวงจรปิดที่สามารถใช้คุยโต้ตอบกันได้คะ นั่นคือเราจะได้ยินเสียงลูก และยังสามารถดูผ่านมือถือได้
3. โคมไฟที่ปรับแสงได้
อันนี้ถือว่าสำคัญนะคะ เพราะเวลาเข้านอนเราก็ต้องปรับสภาพความสว่างในห้องให้เป็นไฟสลัวๆ ลูกน้อยก็จะรู้ว่าไฟสว่างประมาณนี้ ถึงเวลานอนแล้วสินะ แต่หากใครไม่อยากซื้อเพิ่มก็หาอะไรมาบังแสงไฟจากโคมไฟ ให้แสงออกมาสลัวๆ อันนี้ต้องมั่นใจว่าต้องปลอดภัยนะคะ เพราะถ้าเปิดไฟไว้เป็นเวลานาน ดวงไฟจะร้อนขึ้น อาจเป็นฉนวนทำให้เกิดเป็นไฟไหม้ได้
4.หูฟัง
งงใช่มั๊ยคะ หูฟังใช้ทำไม ใช้เมื่อไหร่ อันนี้ถือว่าเป็นทางเลือกนะคะ ไม่ใช่สิ่งจำเป็น คือพอเราวางลูกลงเตียงแล้ว ลูกยังไม่ชิน เค้าก็จะร้อง แต่วิธีนี้บอกไว้เบื้องต้นแล้วอาจจะค่อนข้างฮาร์ดคอร์ นั่นคือคุณต้องปล่อยให้ลูกร้อง พ่อแม่บางคนทนเสียงลูกร้องไม่ไหว การใช้หูฟัง ฟังเพลงหรือดูหนัง ช่วงนั้นถือว่าเป็นการเอาตัวเองอออกจากเสียงร้องที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ค่ะ ซึ่งสามีเรา ก็เป็นคนนึง ที่ทนเสียงร้องลูกไม่ได้ จึงใช้หูฟัง แต่อย่าลืมก็ต้องแอบฟังลูกด้วยนะคะว่ายังร้องอยู่รึป่าว เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ว่าต้องเช็คลูก อันนี้อาจจะงงว่าเวลาต้องเช็คลูกคืออะไร เรามาดูวิธีการกันค่ะ
เริ่มต้นฝึกลูกนอนยาว ด้วยวิธี Controlled crying method
ขั้นตอนที่ 1:
หลังเสร็จขั้นตอนกิจวัตร (routine) ที่ต้องทำก่อนเข้านอนแล้ว ( สำหรับลูกเราคือดื่มนม เช็ดตัว เปิดไฟสลัวๆ ร้องเพลงกล่อม) ข้อย้ำว่า routine หรือการทำสิ่งเดิมๆในเวลาเดิมๆสำคัญมากจริงๆค่ะ เพราะเด็กเรียนรู้และจดจำในสิ่งที่พ่อแม่ปฏิบัติกับเค้าทุกวัน เราควรทำแบบนั้นทุกๆวัน เรามาต่อกันคะ หลังจากนั้นก็วางลูกลงบนเตียงของลูก (ตอนนั้นลูกจะต้องยังไม่หลับนะคะ) ซึ่งเราต้องดูให้ดีว่าที่นอนลูกมีความปลอดภัยหรือไม่ สำหรับดิฉันติดกล้องวงจรปิดไว้ในมุมที่ลูกนอน จึงไม่กังวลใจมากนักเพราะสามารถดูได้ว่าลูกเป็นอย่างไร แล้วบอกหลับฝันดีหรือหอมลูก ตามที่เราทำเป็นประจำ (สำหรับตัวเอาก็หอมแก้มลูก Sleep well. Don’t let the bedbugs bite. Mommy love you, see you in the morning)
ขั้นตอนที่ 2:
หากลูกร้องอย่าเพิ่งเข้าไปหาลูกนะคะ ตั้งเวลาไว้เลยค่ะ 2 นาที แล้วถ้ายังร้องก็ค่อยเข้าไปดูลูก อย่าเปิดไฟนะคะ ยังคงรักษาความสว่างแบบสลัวๆไว้ และอย่าอุ้มลูกขึ้นมาจากเตียง ให้เข้าไปลูบหัว หรือแตะตัวลูก (แต่หากดูแล้วลูกไม่สบายตัว ก็สามารถอุ้มขึ้นมาปรับเปลี่ยนท่านอนลูกได้) หรือให้เค้าพอเห็นว่าแม่ไม่ได้ไปไหนไกลนะ ยังอยู่ในบ้านนี่เอง แล้วก็บอกฝันดี แล้วเดินออกจากห้องไปค่ะ
ขั้นตอนที่ 3:
ถ้าลูกยังร้องอยู่ คราวนี้ตั้งเวลาไว้เลยค่ะ 5 นาที แล้วถ้ายังร้องก็เข้าไปดูลูก แล้วก็บอกฝันดี แล้วเดินออกมา
ขั้นตอนที่ 4:
ถ้าลูกยังร้อง 😥 คราวนี้ตั้งเวลาให้นานขึ้นสัก 7 หรือ 8 นาที และก็บอกฝันดี แล้วเดินออกมา
ขั้นตอนที่ 5:
ทำตามขั้นตอนที่ 1-4 ในคืนต่อๆไป ใจแข็งเข้าไว้นะคะ อย่าย่อท้อ เพราะลูกน้อยเค้าก็ต้องเรียนรู้ในการนอนด้วยตัวเองโดยที่จะไม่ร้องไห้
แล้วจะใช้เวลานานสักเท่าไหร่ในการฝึกจึงจะเห็นผล เรามาดูกันค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ
- อุจจาระ (อึ) ของลูกน้อย บอกอะไรเราได้บ้าง ?
- นับวันไข่ตก สำหรับคนที่อยากมีลูก
- มีลูกยากแก้ไขได้ พร้อมอธิบายถึงสาเหตุ
ระยะเวลาที่ใช้ในการฝึกลูกนอนคนเดียว
เด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันไปนะคะ แต่ค่าเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 4-7 วัน ซึ่งลูกดิฉันก็ใช้เวลา 3 วันที่ แต่เป็น 3 วัน ที่ทรมานใจคนเป็นพ่อเป็นแม่มากๆ แต่หลังจากนั้นชีวิตคุณจะดีขึ้นค่ะ นอนหลับเต็มอิ่มมากขึ้น
มาถึงตรงนี้แล้ว หลายๆคนยังคงชั่งใจอยู่ว่าจะยังไงดี จะใช้วิธีนี้ดีมั๊ยนะ เอาเป็นว่าดิฉันเข้าใจค่ะ เพราะไม่มีใครจะอยากให้ลูกร้องไห้ถูกมั๊ยคะ เรามาดูข้อดีข้อเสียของวิธีนี้กันดีกว่าค่ะ ว่ามีอะไรกันบ้าง เผื่อจะช่วยให้เพื่อนๆตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ฝึกลูกนอนยาวคนเดียว ข้อดี VS ข้อเสีย
ข้อดี (7)
- ทำให้ลูกเรียนรู้การนอนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้ลูกนอนหลับได้ดีขึ้น แต่บางครั้งถ้าลูกป่วย หรือเปลี่ยนสถานที่นอนใหม่ ก็อาจจะมีงอแงบ้าง
- การที่ลูกนอนหลับได้ด้วยตัวเอง ก็มีประโยชน์ เพราะบางครั้งเด็กบางคนตื่นมากลางคืน ก็ไม่ใช่ว่าเค้าต้องการพ่อแม่มาอุ้มสะทุกครั้ง อาจจะลืมตามา ส่งเสียงแอะ แอะ แล้วก็หลับต่อได้ด้วยตัวเค้าเอง
- คุณพ่อคุณแม่จะมีเวลาให้กันและกัน หรือเวลาส่วนตัวมากขึ้น เพราะเด็กบางคนใช้เวลาในการกล่อมนานเป็นชั่วโมง
ข้อเสีย
- คุณพ่อคุณแม่ และผู้เชี่ยวผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าการไม่ตอบสนองลูกเมื่อลูกร้องนั้น จะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย และรู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้ง
- พ่อแม่รู้สึกเครียดที่ปล่อยให้ลูกร้อง
- เสียงร้องของลูก อาจก่อให้เกิดความรำคาญต่อสมาชิกคนอื่นๆในบ้าน หรือเพื่อนบ้านได้
เคล็ดลับที่จะพาให้คุณและลูกน้อยไปสู่ความสำเร็จ (1)
- เริ่มในเวลาที่หมาะสม นั่นหมายถึง เริ่มใช้วิธีนี้ในช่วงที่ลูกสุขภาพพร้อม ไม่ได้ป่วย แนะนำให้เริ่มในช่วงที่อยู่บ้าน ไม่ได้ไปเที่ยวหรือย้ายที่นอน เพราะจะเป็นการทำให้ลูกสับสนไปกันใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น ควรวางแผนเริ่มในวันหยุดยาว หรือเริ่มคืนวันศุกร์ เพราะช่วงแรกเรียกได้ว่าคนเป็นพ่อแม่เองก็อาจจะนอนไม่หลับด้วยเช่นกันค่ะ
- อย่าคาดหวังว่าว่าจะสำเร็จได้ในวันแรก และอย่ารีบร้อนที่จะเข้าไปดูลูกน้อย เพราะเด็กก็เรียนรู้เช่นกันว่าเมื่อร้อง เดี๋ยวพ่อแม่ก็เข้ามาหา ในเมื่อเค้าเรียนรู้การต่อรองแบบนี้แล้ว เราเองก็ต้องเรียนรู้ในการตอบสนอง ยับยั้งใจตัวเองรอคอยที่จะเข้าไปหาลูก นี่แหละค่ะที่เป็นการย้ำว่าทำไมถึงให้ตั้งเวลาไว้ในการเข้าไปหาลูก เพราะการที่ลูกร้อง 1 นาที หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คิดว่าลูกร้องนานมากแล้ว
- ความร่วมมือจากคนในครอบครัว และปรับแนวทางให้เหมาะสมกับครอบครัวของเรา ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันว่าทำไมเราต้องใช้วิธีนี้ ยิ่งถ้ามีปู่ ย่า ตาย ยาย อยู่ในบ้านเดียวกันด้วย ต้องแจ้งท่านนะคะ เพราะสำหรับเราเองก็เจอปัญหานี้เช่นกัน ในช่วงที่คุณแม่มาเยี่ยมเราและลูก ท่านก็ไม่เข้าใจว่าทำไมปล่อยให้ลูกร้อง ทำไมถึงเป็นคุณแม่ใจยักษ์ ซึ่งตัวเราก็ให้เหตุผลไปว่า คือเราก็เลี้ยงกันแค่สองคนพ่อแม่ คุณพ่อก็ทำงานทั้งวัน และเราก็เลี้ยงลูก ทำงานบ้าน เราก็อยากมีเวลานั่งนิ่งๆ กันสองคนพ่อแม่บ้าง แต่จะมีบางครอบครัวที่ทางปู่ ย่า ตา ยาย ยื่นข้อเสนอ ว่าท่านจะกล่อมเอง อันนี้ก็แล้วแต่ดุลพินิจของเพื่อนๆ นะคะ แต่ถ้ามั่นใจแล้วว่าจะมาทางสายนี้ เราก็อาจจะให้เหตุผลไปว่า เราก็อยากให้ท่านได้พักผ่อนเช่นกัน จะได้มีสุขภาพแข็งแรง อยู่ดูแลหลานไปนานๆ
- มีความคงเส้นคงวา ถ้าคุณไม่ยึดมั่น และรอคอยตามเวลาที่กำหนดไว้ ตามขั้นตอนเบื้องต้นถ้าเราเข้าไปหาลูกเร็วเกินไป ความสำเร็จก็จะช้าขึ้นไปอีก แล้วทั้งเราและลูกก็เสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ อย่างคำพูดที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ คือ “คุณไม่รู้หรอกว่าคุณอยู่ใกล้ความสำเร็จแค่ไหน ดังนั้นอย่ายอมแพ้ !”
- มีความแน่วแน่ มั่นคงในแนวทางนี้ที่เราใช้ อาจจะดูแบบทรมานใจลูกและเราเอง แต่ผลลัพธ์ออกมาแล้วถ้าลูกนอนหลับได้ด้วยตัวเองได้ และนอนยาวขึ้น เราเองนี่แหละที่จะสบายขึ้น
- รู้ตัวเองว่าเราควรหยุดสะ! เมื่อลูกเรายังคงร้องติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายวัน เราก็ควรหยุดพักก่อนแนวทางนี้ไปก่อนนะคะ เพราะวิธีนี้อาจจะไม่เหมาะกับลูกของคุณ อย่างที่บอกไว้เบื้องต้นค่ะ ว่าการฝึกให้ลูกนอนหลับ มันมีหลายวิธีเหลือเกิน ก็อาจจะต้องลองหาวิธีอื่นๆดูค่ะ
สุดท้ายแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองนี่แหละค่ะ เป็นคนรู้ดีที่สุดว่าลูกของคุณเหมาะกับวิธีไหนที่สุด โชคดีและนอนหลับฝันดีกันทุกคนนะคะ
- Sleep training
- Controlled Crying, Cry It Out, No-Cry, or Soothe Baby to Sleep?
- Parental use of ‘cry it out’ in infants: no adverse effects on attachment and behavioural development at 18 months
- Advice & Guidance: Sleeping
- NHS – Controlled crying ‘safe for babies‘
- NHS – What you’ll need for your baby
- Is it OK to let a baby cry?
- NHS – Letting babies “cry it out” does not affect behaviour in later life, reports study