เช็ก! ประจำเดือนควรมามากสุดกี่วัน ถึงจะเรียกว่าปกติ

การมีประจำเดือนเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงของผู้หญิง เมื่อคุณเริ่มมีประจำเดือนร่ายกายจะบ่งบอกว่าคุณเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่และพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์มีลูกแล้ว ในช่วงที่มีประจำเดือนสาวๆ มักจะพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ เช่น รู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตึงบริเวณเต้านม มีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือปวดท้องประจำเดือน สาเหตุของอาการเหล่านี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายของเรานั่นเอง อาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่ผู้หญิงแทบจะทุกคนต้องพบเจอ

ประจำเดือนจะมาตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ?

โดยปกติแล้วผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุ 12 ปี แต่จะเร็วหรือช้ากว่านั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคล (1) บางคนอาจจะกังวลว่าทำไมประจำเดือนของตัวเองไม่มาสักทีทั้งๆ ที่เพื่อนๆ มีประจำเดือนกันหมดแล้ว บางคนกังวลว่าประจำเดือนมาช้าอาจจะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหรือเปล่า ขอบอกเลยว่าการที่ประจำเดือนมาช้าหรือเร็วนั้น อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรงใดๆ เพราะบางคนเริ่มมีประจำเดือนตอนอายุ 15-16 ปี ก็มี ดังนั้นไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ มาเร็วมาช้าแต่มาแน่นอน (2)

ประจำเดือนจะมานานแค่ไหน?

ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงจะมีประจำเดือนทุกๆ 28 วัน หรือระหว่าง 21-40 วันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล (1) ซึ่งระยะเวลาของการมีประจำเดือนในแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 3-8 วัน แต่จะมีประจำเดือนมามากที่สุดในช่วง 2 วันแรก และอาจจะมีอาการปวดท้องประจำเดือนร่วมด้วย โดยในช่วงวันแรกประจำเดือนอาจจะมีสีน้ำตาลหรือสีดำเนื่องจาจจะมีเลือดตกค้างในมดลูกซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ช่วงที่มีประจำเดือนมามากที่สุดประจำเดือนจะมีสีแดงสด และสีอ่อนลงในช่วงระยะหลัง โดยคุณจะเสียเลือดทั้งหมดประมาณ 30 ถึง 72 มิลลิลิตรในระหว่างที่มีประจำเดือน (2) แต่ไม่ต้องตกใจเพราะร่างการจะผลิตเลือดเหล่านี้ขึ้นใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว

ควรใช้ผ้าอนามัยแบบไหนดี?

ใช้ผ้าอนามัย แบบไหนดี?

ผ้าอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับเลือดประจำเดือนทำให้บริเวณจุดซ่อนเร้นมีความสะอาดและไม่อับชื้น และในปัจจุบันผ้าอนามัยก็มีมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็เหมาะสำหรับกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป

ประเภทของผ้าอนามัย

ผ้าอนามัยแบบแผ่น

ผ้าอนามัยแบบแผ่นมีลักษณะเป็นผ้าทรงรี ด้านหนึ่งมีกาวเหนียวสำหรับยึดติดกับกางเกงชั้นใน อีกด้านมีลักษณะเป็นสำลีนุ่มเพื่อลดการระคายเคืองและซึมซับเลือดประจำเดือนที่ไหลออกมาจากมดลูกของคุณ ผ้าอนามัยชนิดนี้เหมาะสำหรับวันธรรมดาหรือช่วงเวลาที่คุณนอนหลับ ควรจะเปลี่ยนแผ่นอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมงเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย

ผ้าอนามัยแบบสอด

ผ้าอนามัยแบบสอดมีลักษณะเป็นแท่งสำลีเล็กๆ มีสายที่ปลายด้านหนึ่ง คุณจะต้องสอดแท่งอนามัยด้านที่ไม่มีปลายเชือกเข้าในช่องคลอด เมื่อแท่งอนามัยสัมผัสกับเลือดประจำเดือนจะขยายพองตัวขึ้นเพื่อซึบซับไม่ให้เลือดประจำเดือนไหลออกมา คุณสามารถดึงปลายด้านที่มีเชือกเพื่อนำแท่งอนามัยออกมาเมื่อครบ 4-6 ชั่วโมง ข้อดีของผ้าอนามัยชนิดนี้คือคุณสามารถใส่ลงเล่นน้ำได้และให้ความรู้สึกที่สบายตัวกว่า

ถ้วยอนามัย

นวัตกรรมใหม่ของวงการผ้าอนามัย โดยถ้วยอนามัยมีลักษณะเป็นถ้วยเล็กๆ ผลิตจากซิลิโคนนิ่ม คุณแค่บีบปากถ้วยให้มีขนาดเล็กและสอดเข้าไปในช่องคลอด ถ้วยจะรองรับเลือดประจำเดือนของคุณเอาไว้ไม่ให้ไหลรั่วเลอะเทอะ ข้อดีของถ้วยอนามัยคือคุณสามารถใช้ซ้ำได้เพราะคุณแค่ดึงมันออกมาล้างทำความสะอาดและเก็บไว้ใช้ในครั้งถัดไปได้

PMS คืออะไร? อันตรายหรือไม่?

หากสาวๆ มีอาการคัดตึงเต้านม รู้สึกว่าขนาดตัวมีการขยายมากขึ้น หงุดหงิดฉุนเฉียว ผิวแห้ง ผมมัน ปวดตัวปวดหลัง หรือแม้กระทั่งการหมดอารมณ์ทางเพศ ไม่ต้องตกใจไปเพราะคุณอาจอยู่ในช่วง PMS (Premenstrual Syndrome) โดยอาการเหล่านี้เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเทสเตอโรนในช่วงก่อนมีประจำเดือน และอาการต่างๆจะหายไประหว่างหรือหลังมีประจำเดือน แต่บางคนอาจจะไม่เคยมีอาการเหล่านี้เลยซึ่งนับว่าโชคดีมากๆ (3)

การตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

คุณมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ในช่วง 12-14 วันก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไป ซึ่งช่วงนี้เรียกว่าช่วงตกไข่ หากมีเพศสัมพันธุ์ในช่วงนี้จะมีการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่กิดขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุของการตั้งครรภ์ แต่อสุจิจะสามารถอยู่ในร่างกายของผู้หญิงได้ถึง 5-7 วัน (1),(4) ดังนั้นการบันทึกช่วงเวลาประจำเดือนและการคำนวณเวลาตกไข่จึงเป็นเรื่องที่คุณควรทำ แต่คุณอาจไม่ตั้งครรภ์หากคุณทำการคุมกำเนิด ซึ่งการคุมกำเนิดก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การกินยาคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด และแผ่นแปะคุมกำเนิด โดยการคุมกำเนิดจะทำให้ร่างกายของคุณไม่มีการตกไข่และไม่มีการปฎิสนธินั่นเอง

ประจำเดือนมาไม่ปกติ?

อาการประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนเลื่อนสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงในวัยที่มีประจำเดือนทุกคน คุณอาจจะเริ่มมีประจำเดือนเร็วขึ้นหรือช้าลงแต่นั่นอาจจะไม่ได้บ่งชี้ถึงความผิดปกติแต่อย่างใด แต่คุณจะต้องพบแพทย์ถ้าหากคุณมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์หรือมีเลือดออกในวัยหมดประจำเดือน เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ความผิดปกติของมดลูก หรืออาจจะเป็นอาการของมะเร็ง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่คุณจะมีการตั้งครรภ์ถ้าหากคุณไม่มีประจำเดือนมากกว่า 3 เดือนหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ คุณควรจะทำการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองหรือพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจและทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด (5)

เมื่อไหร่ประจำเดือนจะหยุด (เข้าสู่ช่วงวัยทอง)

ประจำเดือนมีได้ก็หมดได้ โดยทราบกันดีว่าประจำเดือนเกิดขึ้นจากการหลุดร่อนของไข่ที่ไม่ได้รับการปฎิสนธิ เมื่อคุณมีอายุมากขึ้นร่างกายของคุณจะมีการผลิตไข่ลดลง โดยประจำเดือนของคุณจะเริ่มน้อยลงและหมดไปในช่วงอายุ 45-50 ปีขึ้นไป ในช่วงแรกของการหมดประจำเดือนคุณอาจจะมีอารมณ์โมโหหงุดหงิดง่าย แต่อาการเหล่านั้นจะหายไปเมื่อฮอร์โมนของคุณมีระดับคงที่ (2)

อ่านเพิ่มเติม 10 สมุนไพร ที่เหมาะสำหรับวัยทอง (วัยหมดประจำเดือน )


อ้างอิง 

(1) About Menstruation

(2) Abnormal Vaginal Bleeding

(3) Premenstrual syndrome

(4) Trying to get pregnant

(5) Period problems