อาการปากแห้ง น้ำลายน้อย – สาเหตุ และวิธีแก้ไข

อาการปากแห้ง น้ำลายน้อย เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อาการปากแห้ง น้ำลายน้อย เกิดขึ้นได้อย่างไร?

หลายคนเคยมีอาการปากแห้ง คือ รู้สึกว่าในปากไม่มีน้ำลายหรือมีน้ำลายน้อยมาก จนทำให้รู้สึกแย่ ซึ่งอันแท้จริงแล้ว “อาการปากแห้ง” เรียกอีกอย่างว่า Xerostomia จะเกิดขึ้นเมื่อในปากของคุณมีน้ำลายไม่เพียงพอ โดยอาการหลัก ๆ มันก็จะทำให้ปากของเรารู้สึกแห้ง กลืนอาหารได้ยาก เจ็บคอ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิเช่น มีกลิ่นปากรุนแรง คอแห้ง และทำให้ริมฝีปากแตก

หลายคนอาจไม่รู้ว่า น้ำลาย เป็นส่วนที่จำเป็นในกระบวนการย่อยอาหารของคุณ ช่วยหล่อเลี้ยงและสลายอาหาร นอกจากนี้ยังทำงานเป็นกลไกการป้องกันที่สำคัญเพื่อช่วยให้ร่างกายของคุณมีสุขภาพฟันที่ดี ปกป้องปากของคุณจากโรคเหงือกและฟันผุ (1) อาการปากแห้งไม่ใช่ภาวะทางการแพทย์ที่ร้ายแรงนัก แต่อย่างไรก็ตามในบางครั้ง อาจเป็นอาการแรกเริ่มของปัญหาอื่น ๆ ที่ต้องได้รับการรักษา อีกทั้งยังสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอย่างฟันผุได้อีกด้วย วันนี้เราจะมาไขความลับกันค่ะว่า อาการปากแห้ง น้ำลายน้อยนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

อาการปากแห้ง คืออะไร ?

อาการปากแห้ง

คำศัพท์ทางการแพทย์สำหรับ อาการปากแห้ง คือ xerostomia อาการปากแห้งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณมีน้ำลายในปากไม่เพียงพอ เนื่องจากต่อมของคุณผลิตน้ำลายออกมาไม่เพียงพอ (1) สิ่งนี้เรียกว่า hyposalivation น้ำลายมีความสำคัญต่อสุขภาพของคุณมากเพราะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำความสะอาดช่องปากและช่วยชะล้างอาหารที่คุณกิน (2) อาการปากแห้งอาจทำให้เกิดอาการดังนี้

  • เจ็บคอเล็กน้อยถึงรุนแรง
  • แสบร้อนในปากของคุณ
  • กลืนลำบาก
  • มีปัญหาเสียงแหบ
  • เกิดอาการไซนัส

น้ำลาย มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

น้ำลายผลิตโดยต่อมสำคัญสามแห่งในปาก (ต่อมน้ำลาย) และมีบทบาทสำคัญ ดังนี้ (1)

  • การเคี้ยว การกลืน และการย่อยอาหาร
  •  ป้องกันการติดเชื้อในช่องปากโดยการควบคุมแบคทีเรีย
  • ป้องกันฟันผุ

น้ำลาย มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็น น้ำ และก็มีเอนไซม์ และสารหล่อลื่น ผสมอยู่ด้วย โดยเอนไซม์มันจะเป็นตัวช่วยในการย่อยอาหารของคุณ ส่วนสารหล่อลื่น มันจะทำให้ พูด เคี้ยวอาหาร และกลืนอาหาร ได้สบายขึ้น ไม่เจ็บคอ

นอกจากนี้น้ำลายยังช่วยควบคุมแบคทีเรียต่าง ๆ ที่เกาะตามผิวฟัน พวกนี้มันจะกินน้ำตาลในอาหารที่เรากินเข้าไป แบคทีเรียจะย่อยสลาย และเผาผลาญ เพื่อให้มันเติบโต ซึ่งน้ำตาลที่ผ่านการเผาผลาญจะกลายเป็นกรด และมันก็จะเริ่มกัดกินผิวฟันเป็นสาเหตุของฟันผุ แต่น้ำลายจะทำให้กรดเหล่านี้เป็นกลาง และช่วยชะล้างเศษอาหาร ฉะนั้นหากคุณปากแห้ง มีน้ำลายไม่เพียงพอ อาจทำให้คุณเกิดอาหารฟันผุได้ (1)

ผลกระทบจาก อาการปากแห้ง

  • โภชนาการที่ไม่ดี
  • ภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรม เช่น โรคเหงือก , ฟันผุและการสูญเสียฟัน
  • เกิดความทุกข์ทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล , ความเครียดหรือภาวะซึมเศร้า
  • ทานอาหารไม่อร่อย ไม่รับรู้รสชาติ

อาการปากแห้งเกิดจากอะไร?

มีสาเหตุหลายอย่างที่อาจทำให้ปากแห้งได้ อาการปากแห้งมันมักจะเป็นผลมาจากการขาดน้ำ ภาวะบางอย่าง เช่น โรคเบาหวานอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำลาย และนำไปสู่อาการปากแห้ง สาเหตุอื่น ๆ ของอาการปากแห้ง ได้แก่ (1)

  • ความรู้สึกเครียดอาจทำให้ปากแห้งชั่วคราว
  • ผลข้างเคียงของยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ และยาที่ไม่ต้องสั่งโดยแพทย์ มากกว่า 400 ชนิด
  • การรักษามะเร็ง เช่น เคมีบำบัด และการฉายรังสีที่ศีรษะ หรือลำคอ
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ หรือวัยหมดประจำเดือน
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น HIV / AIDS, เบาหวาน และ Sjögren’s syndrome ซึ่งเป็นโรคที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โจมตีเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงต่อมสร้างความชื้นด้วย
  • การนอนกรน หรือหายใจอ้าปาก
ความวิตกกังวล

เคล็ดลับดูแลอาการปากแห้งที่คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ

อาการปากแห้งมักเป็นอาการชั่วคราว และสามารถรักษาได้ ในกรณีที่คุณสามารถป้องกัน และบรรเทาอาการปากแห้งที่บ้านได้โดยทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ (1)

  • จิบน้ำบ่อย ๆ
  • ดูดก้อนน้ำแข็ง
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และยาสูบ
  • จำกัดการบริโภคเกลือ และน้ำตาล
  • ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในห้องนอนของคุณเมื่อคุณนอนหลับ
  • ใช้สารทดแทนน้ำลาย
  • เคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาล หรืออมลูกอมแบบไม่มีน้ำตาล
  • ใช้ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปากกลิ่นมินต์
จิบน้ำบ่อย ๆ

สิ่งสำคัญคือ ต้องแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน รวมถึงไปตรวจฟันสองครั้งต่อปี การดูแลช่องปากที่ดีสามารถช่วยป้องกันฟันผุ และโรคเหงือก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการปากแห้งได้ หากอาการปากแห้งของคุณเกิดจากภาวะสุขภาพพื้นฐาน คุณอาจจะต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม สอบถามแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการเฉพาะของคุณเพื่อค้นหาทางเลือกในการรักษาและแนวโน้มการรักษาในระยะยาว

การรักษาอาการปากแห้งโดยแพทย์

แพทย์ของคุณมักจะตรวจทานยาที่คุณทานอยู่ เพื่อดูว่ามียาตัวใดที่เป็นสาเหตุที่อาจทำให้ปากแห้งได้บ้าง แพทย์อาจให้คุณรับประทาน หรือเปลี่ยนยาในปริมาณที่แตกต่างกัน เพื่อบรรเทาอาการปากแห้ง นอกจากนี้แพทย์อาจสั่งจ่ายน้ำลายเทียม หรือยาเพื่อเพิ่มการผลิตน้ำลายในปากของคุณ และมีวิธีหนึ่งที่สามารถรักษาอาการนี้ได้คือ การรักษาเพื่อซ่อมแซม หรือสร้างต่อมน้ำลายใหม่ (1) แต่การทบทวนการวิจัยในปี 2016 ระบุว่า ยังจำเป็นต้องมีการวิจัย และรอความก้าวหน้าเพิ่มเติม (3)

คุณควรไปพบแพทย์เมื่อใด

  • รู้สึกแห้งในปาก หรือลำคอ
  • น้ำลายหนา
  • ลิ้นมีความหยาบ
  • ริมฝีปากแตก
  • มีปัญหาในการเคี้ยวหรือกลืน
  • รสชาติของอาหารเปลี่ยนไป
  • มีกลิ่นปากรุนแรง
ลิ้นมีความหยาบ

หากคุณคิดว่า ยาทำให้ปากของคุณแห้ง หรือหากคุณสังเกตเห็นอาการอื่น ๆ ของอาการพื้นฐานให้นัดหมายกับแพทย์ทันที แพทย์สามารถสั่งให้ตรวจเลือดและวัดปริมาณน้ำลายที่คุณผลิตเพื่อช่วยหาสาเหตุของอาการปากแห้งและแนะนำทางเลือกในการรักษา หากคุณมีอาการปากแห้งเป็นประจำสิ่งสำคัญก็คือควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสัญญาณของฟันผุ


อ้างอิง 

(1) Dry Mouth? Don’t Delay Treatment

(2) Diagnosis and management of xerostomia and hyposalivation

(3) Concise Review: Salivary Gland Regeneration: Therapeutic Approaches from Stem Cells to Tissue Organoids