วิธีใช้ หม้อตุ๋นไฟฟ้า สำหรับมือใหม่ !

ปีนี้นับเป็นปีที่สาหัสทีเดียวเลยนะคะ เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่ซ้ำแต่ละเดือนเลย โดยเฉพาะสถานการณ์โคโรน่าไวรัสที่แพร่ระบาดอย่างหนักตั้งแต่ช่วงต้นปี จนตอนนี้ปลายปีแล้วก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงเลยค่ะ ทำให้หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยต้องตั้งมาตรการล็อกดาวน์ขึ้น แล้วในช่วงล็อกดาวน์นี่แหละที่ทำให้หลายคนค้นพบว่าจริง ๆ แล้วคุณก็สามารถเป็นเชฟระดับโลกได้

ในช่วงล็อกดาวน์หลายคนต้องหันมาทำอาหารทานเองเพราะไม่สามารถออกไปซื้ออาหารตามร้านอาหารได้ ไหนจะต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยอีก ดังนั้นแบรนด์เครื่องครัวหลายแบรนด์ก็หันมาผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์สำหรับเชฟมือใหม่ ทั้งหม้อทอดไร้น้ำมันที่สามารถทำให้อาหารสุกได้โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน, หม้ออัดแรงดันที่จะช่วยให้คุณทำอาหารได้เร็วขึ้น และเครื่องครัวอีกหนึ่งอย่างคือหม้อตุ๋นไฟฟ้าค่ะ ซึ่งหม้อตุ๋นไฟฟ้าเนี่ยใช้เพื่อทำให้วัตถุดิบที่มีความแข็งและเหนียวอย่างขาหมูหรือเนื้อวัวอ่อนนุ่มละลายในปากได้ (1) วันนี้ Team Know How มีสาระความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หม้อตุ๋นไฟฟ้ามาฝากเพื่อน ๆ ทุกคนกันค่ะ

การตั้งค่าหม้อตุ๋นไฟฟ้า 

หม้อตุ๋นไฟฟ้าแต่ละรุ่นก็มีวิธีการตั้งอุณหภูมิที่ต่างกันนะคะ บางรุ่นก็มีแค่ความร้อนสูงกับความร้อนต่ำ รุ่นที่อัพเกรดขึ้นมาหน่อยก็อาจจะมีทั้งความร้อนสูง, ความร้อนปานกลาง, ความร้อนต่ำ หรือสามารถตั้งค่าความร้อนอัตโนมัติได้ ซึ่งความร้อนแต่ละโหมดก็เหมาะสำหรับวัตถุดิบที่แตกต่างกัน ดังนี้ค่ะ

  • โหมดความร้อนสูง ความร้อนในระดับนี้เหมาะสำหรับวัตถุดิบที่ไม่เหนียวมากอย่างเนื้อไก่ ความร้อนจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นและทำให้วัตถุดิบสุกเปื่อยนุ่มภายในเวลา 3 – 6 ชั่วโมงค่ะ
  • โหมดความร้อนปานกลาง สำหรับคนที่ต้องการทำเนื้อตุ๋นแต่มีเวลาไม่มากนักหรือไม่สามารถรอนาน ๆ ได้ ความร้อนในระดับนี้ถือเป็นตัวเลือกที่ดีค่ะ เพราะมันจะช่วยให้เนื้อเปื่อยเร็วขึ้น แต่รสชาติอาจจะไม่น่าประทับใจเท่าการตุ๋นนาน ๆ
  • โหมดความร้อนต่ำ ความร้อนในระดับนี้เหมาะสมที่สุดแล้วค่ะสำหรับการตุ๋นเนื้อ ความร้อนจะค่อย ๆ ทำให้เนื้อเปื่อยทีละน้อยแต่ยังคงความอร่อยอยู่ ซึ่งความร้อนระดับนี้จะใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงในการทำให้อาหารอ่อนนุ่ม
  • โหมดความร้อนอัตโนมัติ ความร้อนระดับนี้จะช่วยให้คุณทำอาหารได้เร็วขึ้นค่ะ เพราะหม้อจะปรับความร้อนสูงในช่วงแรก หลังจากผ่านไปหนึ่งชั่วโมงหม้อจะลดระดับลงสู่ความร้อนต่ำซึ่งจะทำให้อาหารสุกเร็วขึ้นและเปื่อยนุ่มในช่วงหลังนั่นเอง
  • โหมดอุ่น หลังจากที่อาหารเปื่อยได้ที่แล้ว โหมดนี้จะช่วยคงความร้อนทำให้อาหารยังคงมีรสชาติดีและอุ่นจนกระทั่งถึงเวลาเสิร์ฟค่ะ
ควรใช้เนื้อประเภทไหนกับ หม้อตุ๋นไฟฟ้า ?

ควรใช้เนื้อประเภทไหนกับ หม้อตุ๋นไฟฟ้า ?

หม้อตุ๋นไฟฟ้าสามารถตุ๋นเนื้อได้หลากหลายประเภท ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ เนื้อส่วนหน้าแข้ง, เนื้อแกะ (ส่วนไหล่) และแก้มวัวในการทำอาหารสำหรับคนที่เพิ่งใช้หม้อตุ๋น ซึ่งเนื้อส่วนนี้มีราคาไม่แพง เพราะการใช้งานหม้อตุ๋นจะต้องอาศัยประสบการณ์ในการปรุงให้เนื้อออกมามีความเปื่อยที่พอดี

หลักการทั่ว ๆ ไปแล้ว ยิ่งเนื้อมีกล้ามเนื้อหรือเหนียวมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมาะสำหรับหม้อตุ๋น เพราะกระบวนการตุ๋นจะทำให้เนื้อนุ่มลงและอร่อยมากขึ้น มีเนื้อหลายประเภทที่มีราคาถูกที่เหมาะกับนักต้มตุ๋นฝึกหัดและสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ดังนี้ค่ะ

  • เนื้อหมู : ส่วนแก้ม, ขา, สันคอ และส่วนเท้า
  • เนื้อแกะ : (Lamb กับ Mutton ก็คือเนื้อแกะเหมือนกันนะคะ ต่างกันตรงที่ Lamb ใช้เรียกเนื้อแกะที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ส่วน Mutton ใช้เรียกเนื้อกะโตเต็มวัยหรือมีอายุมากกว่า 1 ปี)
    • Lamb : ส่วนสันคอ, ขา และส่วนไหล่
    • Mutton : ทุกส่วน
  • เนื้อวัว : ส่วนแก้ม, หาง, หน้าแข้ง และส่วนกระบังลม

หม้อตุ๋นไฟฟ้าใช้ย่างเนื้อ ได้ด้วยเหรอ ?

คำตอบคือ …ได้ค่ะ และประหยัดพลังงานกว่าด้วย เพราะการย่างด้วยหม้อตุ๋นไฟฟ้าใช้ไฟประมาณ 246 วัตต์ ซึ่งน้อยกว่าการการย่างด้วยเตาอบไฟฟ้าหรือเตาอบไมโครเวฟที่ส่วนใหญ่มักจะมีกำลังไฟ 600 วัตต์ ขึ้นไป และบางรุ่นอาจมีกำลังไฟ 1,000 หรือ 1200 วัตต์ (2) คุณจะเห็นว่าหม้อตุ๋นไฟฟ้าประหยัดไฟมากกว่าเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว ยิ่งถ้าคุณใช้หม้อตุ๋นที่มีรูปทรงโค้งมนเหมือนไข่จะยิ่งดีเลยค่ะ เพราะคุณสามารถย่างเนื้อชิ้นใหญ่ ๆ หรือย่างไก่ได้ทั้งตัวเลย

หม้อตุ๋นไฟฟ้าใช้กับเนื้อได้อย่างเดียวเหรอ ? แล้วมังสวิรัติล่ะ ?

ชาวมังสวิรัติอย่าน้อยใจไปค่ะ เพราะหม้อตุ๋นไฟฟ้าเหมาะมาก ๆ เลยนะคะสำหรับต้มถั่วต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นถั่วเมล็ดแห้ง, ถั่วฝักยาว หรือถั่วลันเตา เพียงคุณแช่ถั่วไว้สักหนึ่งคืน หลังจากนั้นนำมาต้มด้วยหม้อตุ๋นไฟฟ้าเพื่อขับสารพิษประมาณ 10 นาที แค่นี้คุณก็จะได้ทานถั่วที่อร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะคะ เพราะหม้อตุ๋นไฟฟ้ายังทำได้อีกหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น ต้มจับฉ่ายมังสวิรัติ, เต้าหู้ตุ๋นเห็ดหอม, ต้มผัก หรือกะหล่ำปลีต้มเห็ดหอมก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เลยค่ะ

หม้อตุ๋นไฟฟ้าทำขนมหวาน ได้ไหม ?

มีของคาวแล้วก็ต้องมีของหวานตบท้ายใช่ไหมล่ะ และแน่นอนว่าหม้อตุ๋นไฟฟ้าก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ เมนูง่าย ๆ เลยก็คือ พุดดิ้ง โดยที่คุณแค่ผสมพุดดิ้งใส่ถ้วยแยกไว้ หลังจากนั้นนำถ้วยที่มีส่วนผสมของพุดดิ้งใส่ลงในหม้อตุ๋นแล้วใส่น้ำร้อนตามลงไปประมาณครึ่งถ้วยที่ใส่พุดดิ้ง อย่าใส่ลงในถ้วยพุดดิ้งนะคะ ให้ใส่ลงในหม้อตุ๋นเลยค่ะ หลังจากนั้นเปิดเครื่องและปล่อยให้น้ำร้อนค่อย ๆ ทำให้พุดดิ้งสุกและนุ่มเด้ง แค่นี้คุณก็จะได้ทานพุดดิ้งนุ่ม ๆ อร่อย ๆ แล้วค่ะ แต่ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะนอกจากพุดดิ้งแล้วหม้อตุ๋นไฟฟ้ายังสามารถทำแยมได้อีกด้วย! แค่คุณหั่นผลไม้สดใส่ในหม้อตุ๋น เปิดเครื่องทิ้งไว้ในโหมดความร้อนต่ำ แค่นี้คุณก็จะมีแยมเบสไว้สำหรับทำแยมทานคู่กับขนมปังอุ่น ๆ แล้วค่ะ

การใช้หม้อตุ๋นไฟฟ้าจะเหนื่อยกว่าเดิมหรือเปล่า ?

การทำอาหารด้วยหม้อตุ๋นไฟฟ้าที่ต้องใช้เวลา 3 – 12 ชั่วโมงในแต่ละครั้งอาจจะดูนานมากถ้าคุณมีเวลาน้อย ไหนจะต้องเตรียมวัตถุดิบไว้ล่วงหน้าอีก แต่แค่คุณเตรียมวัตถุดิบไว้ให้พร้อมตอนที่คุณมีเวลาว่าง แล้วนำวัตถุดิบเหล่านั้นใส่ลงในหม้อ, เปิดทำงาน, ออกไปทำงาน หรือธุระของคุณ, หลังจากนั้นคุณแค่กลับมาทานมื้อค่ำแสนอร่อยโดยที่คุณไม่ต้องลงมือทำมื้อเย็นเลยแม้แต่น้อย แค่นี้ก็ทำให้คุณหายเหนื่อยได้แล้วใช่ไหมล่ะคะ

เป็นยังไงบ้างคะสำหรับคำแนะนำในการใช้งานหม้อตุ๋นไฟฟ้าที่เรานำมาฝากในวันนี้ หวังว่าเพื่อน ๆ จะได้รับสาระความรู้ไปไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วเรามาเจอกันใหม่ในบทความหน้า รักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ สวัสดีค่ะ


อ้างอิง 

(1) Slow cooker

(2) Microwave oven