เดินละเมอ (Sleepwalking) อันตรายกว่าที่คุณคิด !

เดินละเมอ (Sleepwalking) อันตรายกว่าที่คุณคิด
เดินละเมอ (Sleepwalking) อันตรายกว่าที่คุณคิด

“การเดินละเมอ (Sleepwalking)” หรือที่เรียกว่า “Somnambulism” คือ การที่ใครบางคนเดิน หรือทำกิจกรรม ในขณะที่ยังไม่ตื่น เมื่ออาการนี้เกิดขึ้นคนที่เดินละเมออาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ขณะนอนหลับรวมถึงการแต่งตัว เข้าห้องน้ำ รับประทานอาหาร หรือเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ (1) ภาวะนี้มักเกิดขึ้นในเด็ก แต่ก็สามารถพบได้ในคนทุกช่วงทุกวัยเช่นกัน (2),(3) ซึ่งอาการเดินละเมอ ถือเป็นอาการที่อันตรายมาก ๆ และต้องได้รับการรักษา เนื่องจากการเดินละเมออาจทำให้เกิดการหกล้มและบาดเจ็บได้ ดังนั้นการรักษา และดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยในบ้านของคุณ จึงมีความสำคัญมาก หากคุณหรือคนที่คุณอาศัยอยู่ด้วยมีอาการเดินละเมอ

อาการเดินละเมอมักเกิดขึ้นในช่วงหลับลึก ดังนั้นการเดินละเมอจึงมักเกิดขึ้นในช่วง 2 – 3 ชั่วโมงแรกหลังผล็อยหลับไป ตามที่เราได้บอกไว้ค่ะว่า การเดินละเมอสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในเด็ก โดยสามารถพูดได้เลยว่าเด็ก 1 ใน 5 คน มักจะเดินละเมอ (1),(2),(3) ซึ่งส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยแรกรุ่นค่ะ แต่ก็มีประมาณ 1.5% ที่ยังมีอาการอยู่แม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม (4) หากวันนี้คุณกำลังประสบกับปัญหาการเดินละเมอ หรือมีคนรอบข้างที่มีอาการนี้ เราก็มีคำแนะนำและข้อมูลเกี่ยวกับอาการนี้ทั้งหมดมาบอกกล่าวกันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันได้เลยค่ะ

ทำไมบางคนถึงมีอาการเดินละเมอ ?

อาการเดินละเมอ

การเดินละเมอจัดเป็นอาการกำเริบ ซึ่งเป็นพฤติกรรมหรือประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ระหว่างการนอนหลับ การเดินละเมอเป็นความผิดปกติของความตื่นตัว ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับในระยะ N3 ซึ่งเป็นระยะที่ลึกที่สุดของการนอนหลับ ที่ไม่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว (NREM) และความผิดปกติของ NREM อีกประการหนึ่งก็คือความหวาดกลัวในการนอนหลับ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกับการเดินละเมอ (2)

ซึ่งในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเดินละเมอ แต่ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นตามกรรมพันธุ์ คุณอาจมีแนวโน้มที่จะมีอาการเดินละเมอถ้าสมาชิกคนอื่น ๆ ของครอบครัวมีอาการเดินละเมอ แต่แน่นอนว่านอกจากกรรมพันธุ์แล้ว ยังมีสาเหตุอี่น ๆ บางประการที่สามารถไปกระตุ้นอาการเดินละเมอได้เช่นกัน อีกทั้งยังทำให้อาการเดินละเมอแย่ลงอีกด้วย (2),(3)

ความผิดปกติของการนอนหลับอื่น ๆ ที่ทำให้คุณตื่นขึ้นอย่างกะทันหันบ่อยครั้งในช่วงกลางคืน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโรคขาอยู่ไม่สุข (RLS) ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเดินละเมอได้เช่นกัน ดังนั้นการนอนหลับอย่างเพียงพอเป็นประจำและการบรรเทาความเครียดสามารถช่วยให้คุณไม่มีอาการเดินละเมอได้ค่ะ

อาการของคนเดินละเมอ

การเดินละเมอมักเกิดขึ้นตอนกลางคืน โดยมักเกิดขึ้นหลังจากที่หลับไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง โดยเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยหรือบ่อยครั้ง และโดยทั่วไปแล้วเหตุการณ์หนึ่งจะใช้เวลาหลายนาที หรือบางคนก็ยาวนานกว่านั้น ซึ่งในช่วงแรกของการเดินละเมอคือ การนั่งบนเตียงและมองไปรอบ ๆ เนื่องจากจะมีอาการสับสนไปชั่วครู่ หลังจากนั้นอาจจะลุกจากเตียงเดินไปเดินมา ไปเปิดตู้เสื้อผ้า แต่งตัว หรือรับประทานอาหาร ซึ่งในขณะเดียวกันอาจดูกระวนกระวายใจไปด้วย ในกรณีที่ร้ายแรงบุคคลที่มีอาการเดินละเมอนั้น อาจเดินออกจากบ้านและทำกิจกรรมที่ซับซ้อนมาก ๆ อย่างเช่น การขับรถ หรือออกจากบ้านไป (2),(3) 

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าดวงตาของผู้เดินละเมอจะเปิดไหมตอนมีอาการ ? เราขอบอกเลยค่ะว่า ดวงตาของพวกเขามักจะเปิดออกในขณะที่กำลังเดินละเมอ ถ้าหากคุณพูดคุยกับคนที่กำลังเดินละเมอ พวกเขาอาจตอบสนองบางส่วนหรือพูดในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล ตอนเดินละเมอ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาน้อยกว่า 10 นาที แต่อาจนานกว่านั้นในบางราย ในขณะที่อาการเดินละเมอกำลังจะสิ้นสุดลง คนคนนั้นอาจตื่นขึ้นหรือกลับไปนอนแล้วหลับไปเลย โดยปกติคนที่เดินละเมอจะตื่นขึ้นมาโดยมีความรู้สึกสับสนและจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง (1),(2),(3)

จะทำอย่างไรถ้าคุณเจอคนที่กำลังเดินละเมอ?

จะทำอย่างไรถ้าคุณเจอคนที่กำลังเดินละเมอ

สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำถ้าหากคุณเห็นคนเดินละเมอ คือ อันดับแรกต้องแน่ใจก่อนว่าพวกเขาจะปลอดภัย จากนั้นค่อย ๆ นำพวกเขากลับไปนอน โดยต้องทำให้พวกเขามั่นใจ ซึ่งถ้าไม่ถูกปัญหารบกวนคนที่เดินละเมอก็มักจะกลับไปนอนอีกครั้ง บางครั้งการปลุกบุคคลที่มีอาการเดินละเมอหลังจากที่พวกเขาเดินละเมอเสร็จแล้ว จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดวงจรนั้นซ้ำอีก แต่ข้อควรระวังคือ อย่าตะโกนหรือทำให้เขาตกใจ และอย่าพยายามบังคับร่างกายพวกเขา เว้นเสียแต่ว่า พวกเขาจะตกอยู่ในอันตรายที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ (3)

เมื่อใดควรปรึกษาแพทย์

การเดินละเมอเป็นครั้งคราวมักไม่ต้องการการรักษาพยาบาล เพราะปกติแล้วการเดินละเมอไม่ได้เป็นสัญญาณของเรื่องร้ายแรง และอาจดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไปโดยเฉพาะในเด็ก อย่างไรก็ตามคุณควรไปพบแพทย์ทั่วไปหากการเดินละเมอเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรืออาจมีความกังวลว่าตัวเองหรือคนรู้จักมีอาการเดินละเมอแล้วอาจได้รับอันตราย ถ้าหากคุณไปพบแพทย์แล้วแพทย์ประจำตัวของคุณอาจแนะนำคุณไปยังศูนย์การบำบัดการนอนหลับ ซึ่งคุณสามารถพูดคุยถึงประวัติการนอนหลับของคุณได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น หากพบปัญหาคุณสามารถให้แพทย์จัดการเรื่องตารางการนอนหลับเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเดินละเมอบ่อย ๆ ค่ะ

การรักษาอาการเดินละเมอ

ไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับการเดินละเมอ เนื่องจากการรักษาการเดินละเมอเป็นครั้งคราวมักจะไม่จำเป็น เพราะส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายไปเอง โดยทั่วไปแล้วการพยายามนอนหลับให้เพียงพอ และมีกิจวัตรประจำวันที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและไม่เครียดก่อนเข้านอนจะช่วยได้มากค่ะ และต่อไปนี้เป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อป้องกันอาการเดินละเมอค่ะ (3)

  • พยายามเข้านอนให้ตรงเวลาทุกคืน
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่า ห้องนอนของคุณมืดและเงียบจริง ๆ เมื่อคุณเข้านอน และพยายามอย่าดูหน้าจอก่อนเข้านอน
  • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มก่อนนอน โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และเข้าห้องน้ำก่อนเข้านอนเสมอ
  • หาวิธีผ่อนคลายก่อนเข้านอน เช่น อาบน้ำอุ่นจากเครื่องทำน้ำอุ่น อ่านหนังสือ หรือหายใจลึก ๆ
  • หากลูกของคุณเดินละเมอในเวลาเดียวกันเกือบทุกคืน ให้ลองปลุกพวกเขาเบา ๆ เป็นเวลาสั้น ๆ 15 ถึง 30 นาทีก่อนที่พวกเขาจะเดินละเมอตามปกติ ซึ่งอาจทำให้พวกเขาหยุดเดินละเมอโดยเปลี่ยนรอบการนอนหลับปกติ

แต่ถ้าหากการเดินละเมออาจนำไปสู่การบาดเจ็บ ก่อกวนสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้เกิดความอับอาย หรือสร้างปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอ คุณอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยทั่วไปแล้วการรักษาจะเน้นไปที่การส่งเสริมความปลอดภัยและขจัดสาเหตุหรือทริกเกอร์ ซึ่งถ้าหากคุณอยากใช้ยาเราขอบอกก่อนเลยว่า ยามักไม่ใช่วิธีที่ดี ในการใช้รักษาอาการเดินละเมอ แต่ยาบางชนิด เช่น เบนโซไดอะซีพีน ยากล่อมประสาทบางชนิด หรือยาแก้ซึมเศร้า สามารถใช้ได้บางครั้ง โดยอาจใช้ก็ต่อเมื่อคุณเดินละเมอบ่อย ๆ หรือมีความเสี่ยงที่คุณอาจทำร้ายตัวเอง หรือผู้อื่นอย่างรุนแรง ซึ่งยาที่กล่าวมานั้น สามารถช่วยให้คุณนอนหลับและอาจลดความถี่ของการเดินละเมอได้นั่นเองค่ะ (1),(2),(3)


อ้างอิง 

(1) Somnambulism

(2) Sleepwalking (Mayoclinic)

(3) Sleepwalking (NHS)

(4) Prevalence of Sleepwalking: A Systematic Review and Meta-Analysis