13 วิธี กำจัดเศษอาหารในครัวเรือนง่าย ๆ [DIY]

13 วิธีในการ DIY เศษอาหาร
13 วิธีในการ DIY เศษอาหาร

ทุกครั้งที่เราทำอาหาร หรือซื้อกับข้าวกลับมาทานที่บ้าน ปัญหาที่เราต้องเผชิญนั้นคือ ปัญหา “เศษอาหาร” ซึ่งเศษอาหารถือเป็นปัญหาร้ายแรงมากทั้งในและต่างประเทศ ขยะจากอาหารไม่เพียงแต่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติของเราหมดไป แต่ยังเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โชคดีที่วันนี้เรามีเคล็ดลับดี ๆ มากมายที่คุณสามารถทำได้เพื่อลดขยะและเศษอาหาร รวมไปถึงยังช่วยให้คุณวางแผนมื้ออาหารล่วงหน้าได้ แค่ซื้อเฉพาะสิ่งที่คุณต้องการและฝึกการจัดเก็บเศษอาหารอย่างเหมาะสม ซึ่งการใช้เศษอาหารแทนการทิ้งเป็นอีกวิธีง่าย ๆ ในการลดขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังประหยัดเงินอีกด้วย ต่อไปนี้คือ แนวคิดสร้างสรรค์ แบบ DIY 13 ข้อ ที่คุณสามารถทำได้ เพื่อลดปัญหาเศษอาหารค่ะ

1. เปลือกแตงโมดอง

เปลือกแตงโมดอง

แตงโม เป็นผลไม้ยอดนิยมในช่วงฤดูร้อน แต่เปลือกมักถูกทิ้งไป เพราะเรามักทานแค่เนื้อหวาน ๆ ของมัน อย่างไรก็ตามคุณสามารถเก็บเปลือกแตงโมและนำไปดองไว้เป็นอาหารว่างที่กรุบกรอบและน่ารับประทานได้ เช่นเดียวกับการดองผัก และผลไม้อื่น ๆ คุณต้องเคี่ยวเปลือกแตงโมในส่วนผสมที่มีทั้ง น้ำส้มสายชู น้ำ น้ำตาล และเกลือ จนนิ่ม จากนั้นนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นจนกว่าคุณจะพร้อมรับประทาน ถ้าคุณอยากเพิ่มรสชาติพิเศษ คุณสามารถเพิ่มเครื่องเทศอื่น ๆ เช่น ขิง อบเชย หรือพริกไทยลงไปด้วยได้ค่ะ

2. ลองทำน้ำซุปกระดูก

แทนที่จะซื้อผงปรุงรสน้ำซุปกระดูกแบบสำเร็จมาใช้ คุณสามารถทำน้ำซุปกระดูกเองที่บ้านได้ ด้วยการเก็บกระดูกที่เหลือจากเนื้อสัตว์เอาไว้ วิธีการก็ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ใส่กระดูกลงในหม้อใบใหญ่แล้วเติมน้ำจนกระดูกจมลงไป ปิดฝา และเคี่ยวทิ้งไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง จากนั้นกรองเอาแต่น้ำซุปโดยใช้ตะแกรง เทน้ำซุปที่ได้ลงไปในขวดโหล ปิดฝาและก็นำไปเก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งน้ำซุปกระดูกเป็นส่วนผสมที่ยอดเยี่ยมสำหรับทำซุป สตูว์ และน้ำเกรวี่

3. ทำขนมปังกรอบโดยใช้ขนมปังเก่า

ทำขนมปังกรอบโดยใช้ขนมปังเก่า

หากคุณมีขนมปังที่เก่าแล้วก็ไม่จำเป็นต้องโยนทิ้งค่ะ เพราะมันสามารถใช้ทำเป็นขนมปังกรอบโฮมเมดแสนอร่อยได้ ซึ่งวิธีการทำนั้น เริ่มด้วยการหั่นขนมปังเป็นก้อนเล็ก ๆ ก่อน แล้วทาด้วยน้ำมันมะกอก และเครื่องปรุงรสที่คุณต้องการ เช่น ผงกระเทียม โรสแมรี่ พริกไทยดำ หรือผงหัวหอม จากนั้นจัดเรียงก้อนขนมปังบนถาดแล้วอบประมาณ 10-15 นาที ที่อุณหภูมิ 205 °C หรืออบจนขนมปังเหลืองกรอบ และเป็นสีทอง ขนมปังกรอบแบบโฮมเมด จะช่วยเพิ่มรสชาติ และความกรุบกรอบให้กับสลัดและซุปได้

4. ผัดก้านผัก

ผักใบเขียวอย่างคะน้าและกะหล่ำปลีมีลำต้นเป็นก้านที่ทานได้ยาก แต่แทนที่จะโยนทิ้งคุณสามารถเก็บก้านไว้ได้ แนะนำให้หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปผัดด้วยน้ำมันมะกอก และใช้เครื่องปรุงรสที่คุณชอบ ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะสามารถช่วยคุณลดเศษอาหารได้แล้ว ลำต้นของผักใบเขียวก็ถือเป็นเครื่องเคียงแสนอร่อยด้วย ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสารอาหารมากมาย ซึ่งถ้าหากคุณทานคะน้าประมาณ 1 ถ้วย คุณจะได้รับวิตามิน A, C และ K อีกทั้งคะน้ายังอัดแน่นไปด้วยธาตุเหล็กค่ะ (1)

5. ปลูกผักในน้ำ

ปลูกผักในน้ำ

ผักหลายชนิดสามารถปลูกใหม่ได้โดยการใส่ก้านที่เหลือลงไปแช่ไว้ในน้ำ ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้คุณประหยัดเงินในการซื้อของชำ และในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยลดของเสียไปในตัวได้ด้วย ซึ่งผักที่ปลูกได้ง่ายก็ได้แก่ กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย ต้นหอม และโดยเฉพาะกระเทียมกับหัวหอม ซึ่งเป็นวัตถุดิบเพื่อสุขภาพที่เก็บไว้ได้นาน นอกจากนี้คุณยังสามารถปลูกผักอื่น ๆ ได้หลากหลายเช่นกัน เพียงแค่ตัดส่วนล่างของก้านหรือส่วนที่แก่ จากนั้นวางลงในแก้วที่มีน้ำประมาณ 1 ใน 4 ส่วน แม้ว่าอาจต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเห็นการเติบโต แต่คุณจะเริ่มสังเกตเห็นความคืบหน้าได้ภายใน 2 -3 วัน ค่ะ

6. เก็บใบของหัวบีท แครอทและหัวไชเท้าไว้

คนส่วนใหญ่จะทิ้งผักใบเขียวที่งอกจากผักที่มีราก เช่น หัวบีต แครอท และหัวไชเท้า ผักใบเขียวเหล่านี้ไม่เพียงแต่กินได้และมีคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์มากมายอย่างน่าเหลือเชื่อ คุณสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูต่าง ๆ ได้มากมาย แนะนำให้ลองผัดใบของพืชเหล่านี้ เพื่อทำกับข้าวง่าย ๆ หรือใส่ในสลัด ซุป เพสโต้ หรือฮัมมุสก็ได้ค่ะ

7. ทำน้ำสต๊อกผัก

ทำน้ำสต๊อกผัก

หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับเศษผัก คือ ทำน้ำสต๊อกผัก ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายมาก ๆ เพียงใส่เศษผักลงในหม้อใบใหญ่ เติมน้ำ เติมสมุนไพร และเครื่องปรุงรส เช่น กระเทียม หรือพริกไทย นำไปต้มและเคี่ยวเป็นเวลา 20-30 นาทีถัดมาให้กรองน้ำซุปโดยใช้ตะแกรงตาข่ายละเอียด เก็บไว้ในขวดโหลแล้วแช่แข็งหรือแช่เย็น คุณสามารถใช้สต๊อกผักแบบโฮมเมด เพื่อปรุงพาสต้าหรือธัญพืชได้ หรือเพิ่มลงในซุปและสตูว์เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารได้

8. ใช้กากกาแฟเป็นปุ๋ย

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มยามเช้าที่หลาย ๆ คนขาดไม่ได้ ซึ่งถ้าคุณมีเครื่องชงกาแฟและชงทานเองทุกเช้า สิ่งที่เหลือก็คือ กากกาแฟ ค่ะ ซึ่งคุณสามารถนำกากกาแฟไปทำเป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ได้ ซึ่งปุ๋ยนี้สามารถช่วยในการเจริญเติบโตของพืชและเป็นการเติมสารอินทรีย์ลงในดิน เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโต กากกาแฟยังช่วยดึงดูดไส้เดือน และช่วยในการปรับปรุงดิน การกักเก็บน้ำ และการระบายน้ำของต้นไม้ด้วย ในการใช้กากกาแฟเป็นปุ๋ยให้โรยไว้รอบ ๆ โดนของต้นพืชโดยตรง หรือคราดลงในดิน ลึก 2-3 นิ้ว ระวังอย่าเติมน้ำมากเกินไป เนื่องจากดินและกากกาแฟอาจจับตัวเป็นก้อนได้

9. แช่แข็งสมุนไพรที่เหลือจากการใช้

หากคุณมีสมุนไพรสดในมือที่ไม่ได้ใช้ให้แช่แข็งเพื่อที่จะใช้ในภายหลังแทนที่จะทิ้ง เริ่มต้นด้วยการล้างสมุนไพรให้สะอาด นำก้านออกแล้วหั่นเป็นท่อน ๆ ถัดไป ให้นำสมุนไพรใส่ลงไปในถาดน้ำแข็ง เทน้ำลงไปและแช่แข็งเป็นเวลาหลายชั่วโมง เมื่อแช่แข็งแล้วให้นำออกแล้วเก็บไว้ในถุงพลาสติกในช่องแช่แข็ง เมื่อคุณพร้อมที่จะใช้สมุนไพรแล้วให้นำก้อนที่หั่นไว้ใส่ชามเล็กๆ รอจนน้ำละลาย จากนั้นสะเด็ดน้ำออกและซับสมุนไพรให้แห้ง

10. ทำแยมด้วยเปลือกผลไม้

ทำแยมด้วยเปลือกผลไม้

แทนที่จะโยนเปลือกผลไม้อย่างแอปเปิ้ลหรือส้ม คุณสามารถเก็บเปลือกผลไม้ไว้ทำแยมเปลือกผลไม้แสนอร่อยได้ง่าย ๆ เพียงแค่ต้มเปลือกในน้ำเป็นเวลา 25-30 นาที กรองเปลือกและต้มมันด้วยความร้อนสูงกับน้ำตาลและน้ำมะนาวก่อนเทลงในขวดหรือกระป๋องที่ผ่านการฆ่าเชื้อ แยมเปลือกผลไม้สามารถใช้เป็นท็อปปิ้งแสนอร่อยสำหรับพุดดิ้ง โยเกิร์ตและของหวานเพื่อสุขภาพอื่น ๆ ได้ และยังมีเมนูที่จากแยมอีกมากมาย

11. เก็บเปลือกส้มไว้เป็นน้ำหอมปรับอากาศ

เปลือกส้มช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับอากาศแบบโฮมเมด เพราะมีคุณสมบัติดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ ทางเลือกหนึ่งในการ DIY คือการนำเปลือกของผลไม้ตระกูลส้ม เช่น ส้มโอ มะนาว หรือส้ม มาแช่ไว้ในเกลือทะเล สมุนไพร และน้ำมันหอมระเหยเพื่อเปลี่ยนมันเป็นน้ำหอมปรับอากาศได้ อีกทั้งคุณยังสามารถเคี่ยวเปลือกส้มด้วย น้ำ และเครื่องเทศต่าง ๆ ได้ เช่น อบเชย หรือกานพลู เพื่อทำให้ห้องครัวของคุณสดชื่นขึ้นในทันที

12. แช่แข็งซอสมะเขือเทศที่เหลือ

ในการซื้อฟาสต์ฟู้ดมักจะมีซอสมะเขือเทศมาให้เราเยอะแยะมากมาย แทนที่จะโยนทิ้งคุณสามารถแช่แข็งซอสมะเขือเทศที่เหลือเพื่อยืดอายุการเก็บได้ ในการเริ่มต้นให้ใช้ช้อนเล็ก ๆ ตักซอสมะเขือเทศเทลงบนถาดรองอบแล้วแช่แข็ง จนมันแข็งตัว หลังจากผ่านไป 2 -3 ชั่วโมง ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้คุณเก็บซอสไว้ได้นานถึง 3 เดือน เลยทีเดียว จนกว่าคุณจะพร้อมใช้

13. ลองทำปุ๋ยหมัก

ลองทำปุ๋ยหมัก

การทำปุ๋ยหมักเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการใช้เศษอาหารโดยไม่ทำให้เกิดขยะ มันเป็นการรวบรวมวัสดุอินทรีย์ที่เหลือจากห้องครัวหรือสวนของคุณ เช่น ผัก ผลไม้ เปลือกไข่ กากกาแฟ ดอกไม้ และใบไม้ เมื่อสิ่งเหล่านี้เน่าเปื่อยมันจะสามารถทำเป็นปุ๋ยหมักที่มีสารอาหารหนาแน่น ซึ่งจะช่วยเสริมคุณค่าของดินและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช คุณสามารถทำปุ๋ยหมักในสวนหลังบ้านหรือในร่มโดยใช้อุปกรณ์ทำปุ๋ยหมักในครัวได้


อ้างอิง 

(1) Healthy food trends – kale

Published
Categorized as DIY