การอดนอน ไม่ดีต่อสุขภาพ อย่างไร ?

ทำไมการอดนอนถึงไม่ดีต่อสุขภาพของคุณ ?
ทำไมการอดนอนถึงไม่ดีต่อสุขภาพของคุณ ?

การอดนอน เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่เพศทุกวัย บางคนอาจจะต้องอดนอนจากการทำงาน อ่านหนังสือ หรืออดนอนเพื่อความบันเทิง เช่น ดูซีรีส์ และเล่นเกมในเวลากลางคืน แต่รู้หรือไม่ว่า การอดนอนนั้นทำให้เรามีความสุขเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อเราตื่นขึ้นมาจากการนอนหลับที่ไม่เพียงพอมันส่งผลทำให้ร่างกายของเราไม่สดชื่นและมีอาการเบลอ คุณรู้หรือไม่ว่า การอดนอนอาจส่งผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพร่างกายของคุณ พวกเรา 1 ใน 3 คนต้องทนทุกข์ทรมานจากการนอนหลับไม่เพียงพอและส่งผลให้เกิดความเครียด อย่างไรก็ตามคุณต้องรู้ไว้ว่า การอดนอน หรือนอนไม่เพียงพอนั้น ส่งผลกระทบได้มากกว่าที่คุณคิด ปกติการนอนหลับไม่พอทำให้คุณมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหลายอย่างรวมทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ผู้ใหญ่ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงในแต่ละคืนมักจะบอกว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพเช่น โรคหอบหืด และโรคซึมเศร้า ซึ่งปัญหาสุขภาพเหล่านี้ บางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองด้วย (1),(2) ดังนั้นเชื่อเราเถอะค่ะว่า การนอนหลับสนิท เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตที่ยืนยาว และมีสุขภาพดีแต่หากคุณยังไม่เชื่อ เราจะพาคุณไปดูผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการนอนไม่เพียงพอค่ะ !

บทความที่เกี่ยวข้อง

คนเราต้องนอนหลับมากแค่ไหน?

คนเราต้องการการนอนหลับที่มีคุณภาพประมาณ 8 ชั่วโมงต่อคืน เพื่อให้ร่างกายได้ทำงานอย่างถูกต้อง แต่สำหรับบางคนก็ต้องการการนอนหลับพักผ่อนที่มากขึ้น หรือในบางคนก็อาจจะน้อยลงก็ได้ สิ่งสำคัญก็คือคุณจะต้องรู้ว่าร่างกายของคุณต้องการการนอนหลับมากแค่ไหนและต้องพยายามทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ ตามปกติแล้ว หากคุณตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกเหนื่อยล้าและใช้เวลาทั้งวันเพื่อหาโอกาสที่จะได้งีบหลับก็เป็นไปได้ว่าคุณจะนอนหลับไม่เพียงพอ ความหลากหลายของปัจจัยที่อาจทำให้เกิดการนอนหลับไม่เพียงพออาจรวมถึงสภาวะสุขภาพอย่าง การหยุดหายใจขณะนอนหลับ ด้วย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากนิสัยการนอนที่ไม่ดี (2)

การการนอนหลับที่มีคุณภาพประมาณ 8 ชั่วโมงต่อคืนเพื่อให้ร่างกายได้ทำงานอย่างถูกต้อง

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ได้นอน?

การอดนอน จะทำให้เกิดความเหนื่อยล้า อารมณ์ฉุนเฉียวชั่ววูบ ความหงุดหงิด และขาดสมาธิ การอดนอน หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ หากเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวแน่นอนว่ามันจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณ แต่ถ้าหากคุณนอนไม่หลับหรืออดนอนเป็นเวลาหลาย ๆ คืนติดต่อกัน มันจะส่งผลกระทบทางจิตใจเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความเครียด สมองของคุณจะเบลอทำให้ไม่มีสมาธิและใช้ชีวิตได้ยาก คุณจะเริ่มรู้สึกไม่สบายตัวและอาจหลับไปในระหว่างวัน อีกทั้งการนอนหลับไม่พอยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และอุบัติเหตุด้วย หากอดนอนเป็นประจำทุกวันการอดนอนอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของคุณและทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน (2) การศึกษาในปี 2010 ได้พบว่า การนอนน้อยเกินไปในตอนกลางคืนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย (3)

การอดนอนจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้า

7 ประโยชน์ของการนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ

  • การนอนหลับช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน หากคุณดูเหมือนจะเป็นหวัด และไข้หวัดใหญ่ การนอนหลับไม่เพียงพอ อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการเหล่านี้ได้ การขาดการนอนหลับเป็นเวลาหลาย ๆ วัน สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของคุณ และจะทำให้คุณมีภูมิคุ้มกันลดลงด้วย ซึ่งมีการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า มีกลไกที่ทำให้การนอนหลับสามารถช่วยระบบภูมิคุ้มกันได้ (4) เพราะฉะนั้นถ้าหากไม่อยากป่วยแนะนำให้คุณนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอค่ะ
  • การนอนหลับสามารถทำให้คุณผอมได้ การนอนน้อยอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น จากการศึกษาพบว่าคนที่นอนน้อยกว่า 5-7 ชั่วโมงต่อวัน จะมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนมากกว่าผู้ที่นอนหลับ 7 ชั่วโมงขึ้นไป มีการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงหลักฐานว่า เวลานอนทั้งสั้นและยาว สามารถทำนายความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวในอนาคตและการเพิ่มขึ้นของไขมันในผู้ใหญ่ได้ ดังนั้นผลลัพธ์เหล่านี้จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับ เพื่อป้องกันน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและโรคอ้วน (5) เชื่อกันว่าเป็นเพราะคนอดนอนมีระดับเลปติน (สารเคมีที่ทำให้คุณรู้สึกอิ่ม) ลดลงและเพิ่มระดับของเกรลิน (ฮอร์โมนกระตุ้นความหิว)
  • การนอนหลับช่วยให้จิตใจดีขึ้น การนอนไม่หลับเพียงคืนเดียว สามารถทำให้คุณหงุดหงิดและอารมณ์เสียในวันรุ่งขึ้นได้ ดังนั้นการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังอาจนำไปสู่ความผิดปกติของอารมณ์ในระยะยาว เช่น ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล มีการสำรวจผู้ที่มีความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าเพื่อคำนวณพฤติกรรมการนอนหลับพบว่าคนที่มีอาการส่วนใหญ่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน (2)
  • การนอนหลับป้องกันโรคเบาหวาน การศึกษาชี้ให้เห็นว่าคนที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคเบาหวาน ดูเหมือนว่าการอดนอนอาจนำไปสู่โรคเบาหวานประเภท 2 ได้ โดยการเปลี่ยนวิธีที่ร่างกายประมวลผลกลูโคสซึ่งร่างกายใช้เป็นพลังงาน (6)
  • การนอนหลับเพิ่มแรงขับทางเพศ ผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่ได้รับการนอนหลับที่มีคุณภาพเพียงพอจะมีความต้องการทางเพศต่ำ และไม่ค่อยสนใจเรื่องเพศ ผู้ชายที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับซึ่งเป็นโรคที่หายใจลำบากทำให้นอนหลับไม่สนิทมีแนวโน้มที่จะมีระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำลงซึ่งจะทำให้ความใคร่ลดลง (2)
  • การนอนหลับป้องกันโรคหัวใจ การอดนอนเป็นเวลานานดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องกับอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น และระดับสารเคมีบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบสูงขึ้นซึ่งอาจทำให้หัวใจมีปัญหามากขึ้น (1)
  • การนอนหลับช่วยแก้ปัญหามีบุตรยาก หลายคนอาจจะมีแนวโน้มมีบุตรยาก ซึ่งมีการวิจัยแล้วว่า อาการนี้เป็นผลกระทบอย่างหนึ่งของการอดนอนทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เห็นได้ชัดว่าการหยุดชะงักของการนอนหลับเป็นประจำอาจทำให้เกิดปัญหามีบุตรยากโดยการลดการหลั่งของฮอร์โมนสืบพันธุ์ (2)

วิธีรับมือและแก้ไขปัญหาการอดนอน

หากคุณนอนไม่เพียงพอมีทางเดียวที่จะชดเชยได้นั่นคือการนอนหลับให้มากขึ้น แน่นอนว่าคุณอาจจะไม่ชินในคืนแรก หากคุณอดนอนติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน โดยการฟื้นตัวให้ตัวเองหลับเป็นปกติจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ เราขอแนะนำให้เริ่มทำตั้งแต่วันหยุดสุดสัปดาห์โดยพยายามเพิ่มเวลานอนเพิ่มอีก 1 ชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมงต่อคืน วิธีทำคือเข้านอนเมื่อคุณเหนื่อยและปล่อยให้ร่างกายปลุกตัวคุณเองในตอนเช้า (ไม่ควรให้ใช้นาฬิกาปลุก!) การใช้วิธีนี้คาดว่าจะทำให้คุณนอนหลับได้นานกว่า 10 ชั่วโมงต่อคืน ในคืนแรกหลังจากนั้นไม่นานระยะเวลาที่คุณนอนหลับจะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับปกติ ในระหว่างนี้อย่าพึ่งทานคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มชูกำลังเด็ดขาด สิ่งเหล่านี้อาจเพิ่มพลังงาน และสมาธิของคุณได้ชั่วคราว แต่มันสามารถขัดขวางรูปแบบการนอนหลับของคุณได้ในระยะยาว (2)


อ้างอิง 

(1) How Does Sleep Affect Your Heart Health?

(2) Why lack of sleep is bad for your health

(3) Sleep Duration and All-Cause Mortality: A Systematic Review and Meta-Analysis of Prospective Studies

(4) Gα s-coupled receptor signaling and sleep regulate integrin activation of human antigen-specific T cells

(5) The Association Between Sleep Duration and Weight Gain in Adults: A 6-Year Prospective Study from the Quebec Family Study

(6) Sleep Duration as a Risk Factor for Diabetes Incidence in a Large US Sample